นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการซาก ของผู้ผลิตนม และผลิตภัณฑ์จากนม คือ นมสดพาสเจอร์ไรส์รสธรรมชาติ และโยเกิร์ต พบว่า นมสดพาสเจอร์ไรส์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในขั้นตอนการผลิต คิดเป็นสัดส่วน 50 % รองลงมาขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ 30% ส่วนโยเกิร์ตปล่อยก๊าซ ฯ สูงสุดขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% อย่างไรก็ตามจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตนม และผลิตภัณฑ์จากนม ทราบว่า หากจะผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกต้องปรับปรุงการผลิตที่ขั้นตอนใด เช่น กรณีนมสดพาสเจอร์ไรส์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตมากที่สุด เพราะการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ดังนั้นแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ นำเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไบโอแก๊สจากน้ำเสีย มาใช้ในการผลิตแทนการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาชีวมวลจะถูกหมุนเวียนกลับไปใช้โดยพืชเพื่อสังเคราะห์แสง จึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่วนกรณีโยเกิร์ต ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ โดยวัตถุดิบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ได้แก่ น้ำนมดิบ ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงโค ออร์แกนิก ซึ่งจะปลูกพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูก จะช่วยลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกจากดินและน้ำได้ และแปลงพืชอาหารสัตว์ดังกล่าว ยังจะทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศอีกด้วย ซึ่งหากผู้ผลิตดำเนินปรับปรุงตามแนวทางดังกล่าว ผู้ผลิตจะมีส่วนร่วมในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ” “นอกจากนมและผลิตภัณฑ์จากนมแล้ว ยังมีสินค้าอาหารอีกหลายประเภท ที่ สศอ. และสถาบันอาหารได้ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และพร้อมรับกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศกำหนด”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อึ้ง นม–โยเกิร์ต ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

Posts related