เปรียบเสมือนดวงตาสำหรับผู้พิการทางสายตา  กับ “ไอโซนาร์” เครื่องบอกเตือนสิ่งกีดขวางสำหรับผู้พิการทางสายตา      ฝีมือการพัฒนาของ “อาจารย์สุรพล วรภัทราทร” จากสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  อาจารย์สุรพล บอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตากว่า 123,000 คน ขณะที่ทั่วโลกมีกว่า 37 ล้านคน ผู้พิการทางสายตาเหล่านี้ หากใช้ไม้เท้าช่วยในการเดินทาง มักประสบปัญหาเดินชนสิ่งกีดขวางที่อยู่สูงกว่าระดับเอวขึ้นไป เพราะไม้เท้าจะแกว่งหาสิ่งกีดขวางที่อยู่ข้างหน้า ตรวจสอบสิ่งกีดขวางได้แค่ระดับเท้าขึ้นไปถึงระดับเอวเท่านั้น  ไม่สามารถตรวจสอบสิ่งกีดขวางที่สูงกว่าระดับเอว เช่น ป้ายจราจร ขั้นบันไดใต้สะพานลอย หรือวัตถุต่าง ๆ  ขณะเดียวกันอุปกรณ์ช่วยนำทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ด้วยราคาที่สูง ใช้งานยาก และรูปแบบอุปกรณ์อาจยังไม่น่าใช้มากนัก จึงได้พัฒนา เครื่องบอกเตือนสิ่งกีดขวางสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้น  เรียกว่า “ไอโซนาร์” เป็นอุปกรณ์นำทางขนาดเล็ก ประสิทธิภาพสูง ใช้งานง่ายและราคาต่ำ  ที่สำคัญออกแบบและวิเคราะห์จากความต้องการจากผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยโดยตรง  หลักการทำงานจะใช้คลื่นเสียงอัลตราโซนิคในการตรวจจับสิ่งกีดขวาง เมื่อใช้งานโดยการสวมห้อยคอ จะสามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางในระดับศีรษะถึงระดับเอวของผู้ใช้งาน รัศมีการตรวจจับทางด้านหน้าอยู่ที่ 130 เซนติเมตร และด้านข้าง 80 เซนติเมตร สามารถแจ้งเตือนก่อนการชนด้วยระบบสั่นหลายระดับ  อนาคตจะพัฒนาเพิ่มการเตือนในรูปแบบอื่น ๆ ให้เลือกเช่น เสียงเตือนต่าง ๆ  สำหรับ ไอโซนาร์  ปัจจุบันได้ยื่นขอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ประเทศไทยเรียบร้อยแล้วและผ่านการทดสอบการใช้งานจริงจากผู้พิการทางสายตาในสนามทดสอบที่มีสิ่งกีดขวางจำลอง  ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการชนสิ่งกีดขวางได้มากขึ้น ส่วนการนำไปใช้งาน อาจารย์สุรพล   บอกว่า  ได้ผลิตเพื่อแจกให้กับผู้พิการทางสายตานำไปใช้งานแล้วกว่า 200 เครื่อง โดยเครื่องดังกล่าวมีต้นทุนผลิตประมาณ 1,350 บาทต่อเครื่อง ขณะนี้ตั้งเป้าหาผู้สนับสนุนงบประมาณในการผลิตเพิ่มอีก 100 เครื่อง เพื่อแจกให้กับผู้พิการทางสายตาที่ยังต้องการใช้งานอีกมาก สนใจสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย… ที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้พิการ ชมได้ที่ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2557” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคมนี้ที่ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เครื่องเตือนสิ่งกีดขวาง สำหรับผู้พิการทางสายตา – ฉลาดคิด

Posts related