สทน.เตือนผู้นิยมพระเครื่อง เสี่ยงถูกหลอกขายพระราคาแพง อ้างส่งตรวจอายุวัตถุโบราณแล้วว่า เก่าจริง ชี้ใบรับรองใช้ได้เฉพาะตัวอย่างที่นำมาตรวจซึ่งจะถูกบดทำลายเพื่อตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติหรือ สทน. เปิดเผยว่า ตามที่ สทน. ได้ให้บริการตรวจสอบอายุโบราณวัตถุ โดยใช้เทคนิคเชิงนิวเคลียร์ที่เรียกว่า คาร์บอนเดทติงค์ (Carbon Dating) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณการสลายตัวของธาตุคาร์บอน -14 ในวัตถุที่เป็นส่วนประกอบของโบราณวัตถุชิ้นนั้น ๆ เพื่อกำหนดอายุ และออกใบรับรองให้ นอกจากกรมศิลปากรที่นำตัวอย่างโบราณวัตถุมาให้ สทน.ในการหาค่าอายุแล้ว ยังมีกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของพระเครื่อง หรือเป็นเจ้าของโบราณวัตถุชนิดต่าง ๆ มักนำโบราณวัตถุที่ตนมีจำนวนมากมาตรวจ เพื่อให้ได้ใบรับรองอายุ หลังจากนั้นก็นำกลับไปขายให้ผู้สนใจในราคาสูง ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้สนใจเช่าพระแต่ดูพระไม่เป็นจำนวนมาก ที่ถูกหลอกหรือเสียเงินไปแต่ได้พระที่ไม่สมกับเงินที่เสียไป ยิ่งปัจจุบันมีคนหัวใสนำพระเครื่องมาตรวจหาอายุ เพื่อให้ สทน.ออกเอกสารรับรองให้  ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมามีผู้นำใบรับรองของ สทน.ไปปลอมแปลง หรือทำสำเนา เพื่อประโยชน์ในการให้เช่าพระหลายราย จึงอยากเตือนผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องพระเครื่อง แต่ต้องการเช่า หรือเชื่อในเอกสารยืนยันที่ผู้ขายระบุว่าออกโดย สทน. จนต้องเสียเงินไปจำนวนมาก ทำให้อาจจะได้พระปลอมไปโดยไม่รู้ตัว ด้าน นางสาวนิภาวรรณ ปรมาธิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ ผู้ดูแลการออกใบรับรอง เปิดเผยถึงขั้นตอนการให้บริการหาค่าอายุโบราณวัตถุว่า สทน.จะรับตรวจวัตถุที่เชื่อว่าจะมีอายุมากกว่า 200 ปี เพราะหากต่ำกว่าเทคนิคนี้จะใช้ไม่ได้ผล และผู้ที่ มารับบริการต้องยอมให้ สทน.ทำลายตัวอย่างนั้น เพราะต้องบดวัตถุให้ละเอียดจนเป็นผง แล้วไปผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปวัดค่าการสลายตัวของธาตุคาร์บอน-14 ผลการรับรองที่ปรากฏในเอกสารที่ส่งไปให้ผู้บริการ คือ ค่าอายุของเนื้อวัสดุที่นำมาทำเป็นพระ ไม่ใช่อายุพระ และเป็นเวลาของการสลายตัวของคาร์บอน-14 ไม่ใช่ปีปฏิทิน  อย่างไรก็ดีใบรับรองดังกล่าวเป็น การรับรองตัวอย่างที่นำมาตรวจเท่านั้น  ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวได้ถูกทำลายไปในขั้นตอนการตรวจเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นผู้เห็นใบรับรอง ที่ออกจาก สทน.อาจต้องใช้วิจารณญาณในการเช่าพระเครื่อง ส่วนใบรับรองที่มีผู้นำไปปลอมแปลงขึ้น สทน.จะปรับปรุงให้ใบรับรองมีรูปแบบเฉพาะมากขึ้น เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลงหรือนำไปตัดต่อ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจอายุโบราณวัตถุ หรือสงสัยว่าเป็นเอกสารปลอม ติดต่อที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โทร. 0-2401-9885 ได้ในเวลาทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30–16.30 น.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เตือนผู้นิยมพระเครื่องเสี่ยงถูกหลอกใช้ใบตรวจอายุวัตถุโบราณปลอม

Posts related