เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการ “ทุจริตคอร์รัปชั่น” เป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ โดยเฉพาะในไทย…ที่พบว่าเป็นปัญหาใหญ่และยิ่งทวีคูณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสข่าวการรับเงินใต้โต๊ะของข้าราชการและนักการเมืองในอดีต เพียงระดับ 3-5% กลับเพิ่มเป็น 30-50% ของงบประมาณโครงการหรือคิดเป็นเงินปีละ 200,000-300,000 ล้านบาท จนทำให้ไทยเริ่มเป็นที่จับตาของทั่วโลกเกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารงานโครงการของภาครัฐ ดังนั้นองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคราชการ รวมถึงพรรคการเมืองทั้งฟากของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างเข้ามาหาแนวทางพร้อมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างจริงจัง ทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์ การร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแสดงพลังต่อต้าน หรือแม้แต่การจัดทำสื่อโฆษณาเพื่อร่วมกันต่อต้าน แต่…น่าแปลก เพราะยิ่งมีการรณรงค์มากขึ้นเท่าใดแต่ปรากฏว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยิ่งสูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่สังคมต่างเรียกร้องให้ยุติการกระทำทุกอย่างที่ทำให้ความไม่สุจริตเกิดขึ้น! ไทยแย่สุดในอาเซียน เห็นได้จากคะแนนความโปร่งใส การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยซึ่งได้คะแนนเพียง 35 คะแนนเท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และตกอยู่ในอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศที่ทำการสำรวจ และเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าพบว่าอันดับของไทยกลับลดลงไปถึง 14 อันดับ นั่นหมายถึง…ภาพลักษณ์ของไทยกำลังแย่ลง ขณะเดียวกันหากเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว ยังพบว่าทุกประเทศได้พัฒนาความโปร่งใสไปในทิศทางที่ดีด้วยกันทั้งหมด ยกเว้นกัมพูชา…ที่อันดับรูดลง 3 อันดับ ขณะที่ไทยทรุดหนักที่สุดในอาเซียน ในปี 56 คะแนนความโปร่งใสของสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 5 ของโลกซึ่งเท่ากับปี 55 รองลงมาเป็นบรูไน อยู่อันดับที่ 38 ของโลกเพิ่มขึ้น 8 อันดับ, มาเลเซีย อันดับที่ 54 ของโลกเพิ่มขึ้น 1 อันดับ, ฟิลิปปินส์ อยู่อันดับ 94 ของโลก เพิ่มขึ้น 11 อันดับ, ไทยอยู่อันดับ 102 ของโลกลดลง 14 อันดับ, อินโดนีเซีย อยู่อันดับ 114 ของโลกเพิ่มขึ้น 4 อันดับ, เวียดนาม 116 ของโลกเพิ่มขึ้น 7 อันดับ, ลาว 140 ของโลกเพิ่ม 20 อันดับ, พม่า 157 ของโลกเพิ่ม 15 อันดับ และกัมพูชา 160 ของโลกลดลง 3 อันดับ หาก…ย้อนอันดับคะแนนความโปร่งใสของไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา (53-56) พบว่า อันดับร่วงลงต่อเนื่อง โดยในปี 53 อยู่ที่ 78 ของโลก, ปี 54 อยู่ที่ 80, ปี 55 อยู่ที่ 88 และปี 56 อยู่ที่ 102 แม้ว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะเกิดขึ้นมาหลายครั้ง ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ แต่ไทยยังไม่สามารถก้าวพ้นจากกับดักการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เสียที! สวนทางกับประเทศอื่นที่แก้ปัญหาได้สำเร็จ จนนำความเจริญแบบผิดหูผิดตามาให้ประเทศอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์  สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือเกาหลีใต้ ที่มีแนวทางและวิธีการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชั่นชัดเจน โดยเน้นไปที่การใช้กฎหมาย  การออกพระราชบัญญัติ การมีระบบนิติบัญญัติ ศาล และการบริหารจัดการที่ดี พร้อมทั้งยุทธศาสตร์ มีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญที่ประเทศเหล่านี้สามารถทลายปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจนสำเร็จ… เป็นเพราะการสร้างค่านิยมของประชาชน และการเป็นสังคมที่เสมอภาค ไม่มีความแตกต่างทางชนชั้น ขณะเดียวกันยังเลือกการให้มีองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่มีอํานาจและมีบทบาทสูงในการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส  รวมไปถึงการทําให้รัฐมีความโปร่งใสโดยการที่ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการเข้าไปมีส่วนร่วมสุดท้ายคือ….ความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น การกระจายอํานาจ คือการให้หลายองค์กรทํางานร่วมกันมากกว่าจะรวมศูนย์อํานาจไว้ที่องค์กรเดียว และการให้ผู้หญิงมีบทบาทการตัดสินใจทางการเมืองสูง โกงฝังรากสังคมไทย เมื่อดูแนวทางการแก้ปัญหาในไทยแล้วไม่ได้แตกต่างกับประเทศเหล่านั้นด้วยซ้ำไป แต่ทำไม? ไทยไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ เป็นเพราะปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยฝังรากลึกจากอดีตจนถึงปัจจุบันและยังฝังรากไปจนถึงอนาคต โดยมี 4 ด้านสำคัญ ทั้งเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูง ดังนั้นเงิน… จึงกลายเป็นสิ่งล่อใจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมาก ประกอบกับประชาชนบางส่วนต้องการซื้อความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทำธุรกรรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีรายได้ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับรายจ่าย ขณะที่ระบบบริหารราชการโดยผู้บังคับบัญชาบกพร่องไม่กำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบวินัย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่  ทำให้เกิดการทุจริต ทั้งในส่วนของวงการราชการและส่วนท้องถิ่นได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึงด้านสังคมวัฒนธรรมและศีลธรรม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดคุณธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้ใหญ่คอร์รัปชั่นแล้วไม่ถูกจับ จึงเป็นตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อยทำตามเพราะต้องยอมรับว่าสังคมไทยจำนวนหนึ่งยังเน้นวัตถุนิยมมากกว่าความดีงาม ศีลธรรม โดยถือว่าเงินคือสิ่งที่เป็นคุณค่าของสังคม ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางรายใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จึงต้องดิ้นรนด้วยวิธีการคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกับเรื่องของกฎหมายและวิธีพิจารณา ได้แก่ การลงโทษทางวินัยมีความยุ่งยากในการหาพยานหลักฐาน เพราะมีระเบียบขั้นตอนมากมายในการสอบสวน การพิสูจน์การทุจริต ต้องมีหลักฐานอย่างชัดเจน ซึ่งยากแก่การพิสูจน์ รูปแบบคอร์รัปชั่นหลากหลาย สำหรับรูปแบบการคอร์รัปชั่นที่พบเห็นมีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน และการเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึงการฉกฉวยทรัพยากรของรัฐมาเป็นของครอบครัว การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองและข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีผลได้รับผลเสียส่วนตัว การใช้อิทธิพลทางการเมืองมาปั่นราคาหุ้น การฮั้วการประมูล การปิดบังและการให้การเท็จ การยอมรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง  การทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียง และการทุจริตด้วยวิธีต่าง ๆ และอีกสารพัดรูปแบบ ส่วนรูปแบบที่พบได้บ่อยและทำให้เกิดความเสียหายมาก คงหนีไม่พ้นรูปแบบที่นักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจเป็นผู้เสนอ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อผลประโยชน์แก่พรรคพวก การให้สินบนนักการเมืองหรือข้าราชการ เพื่อให้ได้งานหรือโครงการ และถ้าโครงการใหญ่มูลค่ามากยิ่งทำให้มูลค่าเงินสินบนในสารพัดรูปแบบมากขึ้นไปด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่โครงการใหญ่ในเมืองไทยระยะหลัง ๆ จึงเป็นไปอย่างล่าช้าเพราะมีการร้องเรียนกันเยอะจนถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน…. ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ… การคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกิจกรรมที่มีวงเงินมาก เกี่ยวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เช่น โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งการสร้างเขื่อน ท่าอากาศยาน  ถนนหลวง ทางรถไฟ หรือระบบการคมนาคม และการขนส่ง รวมถึงการอุดหนุนสินค้าเกษตร เป็นต้น เห็นได้จากเรื่องของการรับจำนำข้าวที่ทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่งทั้งกระแสข่าวการนำข้าวมาเวียนเทียนข้าว  การลักลอบข้าวจากเพื่อนบ้านราคาถูก ๆ เข้ามาสวมสิทธิ การประมูลที่ไม่โปร่งใสโดยให้คนใกล้ชิดรัฐบาลซื้อข้าวราคาถูกไปขาย รวมถึงข้าวหายล่องหนและโกดังไฟไหม้ เป็นต้น  สุดท้ายเมื่อซื้อข้าวในราคาสูงแต่ขายออกได้ไม่มาก จนนำไปสู่การค้างจ่ายเงินแก่ชาวนาที่นำข้าวไปจำนำกับรัฐบาลแต่บางรายกลับไม่ได้เงินเป็นเวลา 4-5 เดือน  สร้างวัฒนธรรมโปร่งใส สอดคล้องกับที่บรรดานักวิชาการต่างบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดต่างมีปัญหาการคอร์รัปชั่น  เพราะข้าราชการก็คือมนุษย์ที่มีกิเลส  คล้าย ๆ กันทั้งสิ้น แต่หลายประเทศได้พยายามแก้ปัญหา โดยกระบวนการหลายขั้นตอนที่ต่อเนื่อง  สร้างวัฒนธรรมของความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และการแยกระหว่างเรื่อง “ส่วนตัว” กับ “สาธารณะ” รวมทั้งการสร้างระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และลดแรงจูงใจให้ทำการคอร์รัปชั่น  จนหลายประเทศประสบความสำเร็จแต่จะแตกต่างกับไทย คือ … ยังไม่มีรัฐบาลใดมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง! อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในเมืองไทยดูท่าเหมือนจะยากมาก แต่หลาย ๆ ฝ่ายก็ยังมีความหวังอย่างน้อยปัญหาดังกล่าวอาจทุเลาลงได้ ซึ่งแนวทางป้องกัน และการปิดช่องโหว่ที่นำไปสู่การคอร์รัปชั่นได้ง่าย ๆ กรมต่าง ๆควรมีหน่วยงานเพื่อรับข้อร้องเรียนเรื่องการคอร์รัปชั่นของตนเองขึ้นมา มีหน้าที่เพื่อรับฟังปัญหาและหาทางแก้ไข มีการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ของการให้บริการประชาชนให้เรียบง่าย ลดโอกาสที่ข้าราชการจะใช้อำนาจเพื่อการคอร์รัปชั่น, ลดโอกาสการคอร์รัปชั่น โดยการสับเปลี่ยนบุคคล หรือการโยกย้ายหน่วยงานที่ทำบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มจัดตั้ง “แก๊ง” ในการคอร์รัปชั่น การรณรงค์ให้ข้าราชการ  นักการเมือง และสาธารณชนได้ตื่นตัวร่วมต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมทั้งการให้การศึกษาอบรมเรื่องปัญหาการคอร์รัปชั่นเพื่อสร้างทัศนคติและวัฒนธรรมใหม่แก่คนทุกกลุ่ม ป้องกันเล่นพวก ขณะที่การเลื่อนตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ต้องมีวิธีประเมินผล และตรวจสอบอย่างเป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก พร้อมทั้งมีการนำวิธีออกกฎจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจนเหมือนในบางประเทศ  เช่น ห้ามรับของขวัญหรือการเลี้ยงดูจากคนอื่น ห้ามการรับสินบนและการใช้ทรัพย์สมบัติสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือออกกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ต้องมีการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจัง พร้อมทั้งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะ และรายได้ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกตั้งข้อสงสัย เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นขอไป สุดท้ายต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคม ภาคประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพ ให้เป็นหูเป็นตา และสนับสนุนการทำงานขององค์กรปราบปรามการคอร์รัปชั่นโดยรัฐบาลบางประเทศยังให้งบประมาณสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อช่วยให้การปราบปรามได้ผลดีขึ้น แม้เวลานี้เมืองไทย…ยังแก้คอร์รัปชั่นไม่ได้ แต่หากมีความตั้งใจจริงก็พอมีความหวังในอนาคต อย่างน้อยภาคธุรกิจและภาคประชาชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากแล้ว ยกเว้นนักการเมืองที่ฉากหน้าร่วมขบวนต่อต้านคอร์รัปชั่นแทบทุกครั้งแต่เมื่อเสร็จงานก็ยังไม่พ้น “โกงกิน”!. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รัฐบาลหมดทางแก้คอร์รัปชั่นชี้ปัญหาใหญ่ฝังลึกสังคมไทย

Posts related