นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมหารือกับผู้ประกอบการรถร่วมโดยสารเพื่อขอความร่วมมือให้ชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 8 บาท เป็น 10 บาทออกไปอีกระยะหนึ่งแม้ล่าสุดจะได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่องว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ส่งผลให้รายได้ลดลง ซึ่งเบื้องต้นอาจพิจารณาแนวทางช่วยเหลืออื่น ๆ ที่เหมาะสมให้แทน “จริง ๆ แล้วเป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางจะพิจารณาเรื่องค่าโดยสาร และมีอำนาจอนุมัติทันที ไม่ต้องเสนอครม.แต่ตอนนี้ก็เข้าใจผลกระทบของผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมาก็ได้พยายามนัดผู้ประกอบการมาคุยและขอความร่วมมือ เพราะตอนนี้ประชาชนก็ได้รับผลกระทบจากการเดินทางอยู่แล้วส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารจะเป็นไปได้หรือไม่ ตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้และอยากให้รัฐบาลใหม่มาตัดสินใจมากกว่า” ทั้งนี้ยังเห็นว่าผลกระทบที่เกิดกับผู้ประกอบการขณะนี้อาจน้อยกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)เนื่องจากรถส่วนใหญ่ของขสมก. ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงขณะที่รถร่วมส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี โดยทุกวันขสมก.ก็มีภาระต้นทุนค่าน้ำมันวันละกว่า200 ล้านบาท นายชัชชาติยังกล่าวถึงผลกระทบด้านจราจรจากการชุมนุมปิดกรุงเทพในพื้นที่แยกสำคัญๆในกรุงเทพฯของกลุ่ม กกปส.ในสัปดาห์ที่ 2ว่าจากการประเมินสภาพการจราจรในช่วงเช้าของวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมาพบว่าการจราจรติดขัดมากกว่าสัปดาห์ก่อน เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่ง เริ่มนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาใช้มากขึ้นประกอบกับโรงเรียน มหาวิทยาลัยและบริษัทห้างร้านที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมและใกล้เคียง กลับมาเปิดทำการตามปกติ ทำให้ประชาชนเดินทางมากขึ้นโดยขณะนี้พื้นที่ที่มีการจราจรติดขัดมาก พบว่าคือการเดินทางจากฝั่งธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่สามารถใช้สะพานพระราม8 ได้ทำให้การจรจาจรบริเวณสะพานกรุงธนติดขัดมาก และมีรถติดสะสมไปยังเส้นทางอื่น ๆ ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงประสานงานกับตำรวจจราจรช่วยแก้ไขปัญหาและขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้าด้วย ส่วนการขนส่งสาธารณะ พบว่าล่าสุดมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินโดยเฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดิน มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากเฉลี่ยวันละ 2.6 แสนคนเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนคน ขณะที่รถเมล์ของขสมก. มียอดผู้โดยสารลดลงจาก 3ล้านคนต่อวัน เหลือ 2.1 ล้านคนต่อวันเช่นเดียวกับการใช้บริการทางด่วนของประชาชน มีรถยนต์ใช้บริการลดลงจากเดิมเฉลี่ย1.7 ล้านคันต่อวัน เหลือเพียง 1.2 ล้านคันต่อวันส่วนการใช้บริการเรือโดยสารของประชาชน ได้หารือกับผู้ประกอบการว่าอาจจะเพิ่มการบริการเพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก40,000 คน เป็น 60,000 คน นางภัทรวดี กล่อมจรูญนายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่าผู้ประกอบการรถโดยสารประจำหรือรถร่วมขสมก. กำลังได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และมีรายได้ค่าบริการลดลงอย่างมากหลังจากระยะหลังผู้โดยสารใช้บริการลดลง ทำให้ต้องลดจำนวนเที่ยววิ่งลง และกระทบต่อรายได้ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการเป็นการด่วน “ปกติไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง รถโดยสารร่วมบริการขสมก.ก็มีต้นทุนให้บริการที่สูงอยู่แล้วเมื่อมีเหตุการณ์ขึ้น ก็ยิ่งทำให้จำนวนผู้โดยสารและรายได้ลดลงมากไปอีก โดยยืนยันว่าการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ ไม่ได้อิงกับเรื่องการเมือง และไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิส่วนบุคคลอยู่แล้ว เพียงแต่บริษัทก็ต้องการดำเนินธุรกิจต่อไปได้เท่านั้นเอง โดยปัจจุบันสมาคมมีรถที่ให้บริการรวมกัน 2,000 คัน ทุกรายมีปัญหาเหมือนกันหมด ดังนั้นหากมีช่องทางไหนที่พอจะช่วยผู้ประกอบการได้ก็ขอเรียกร้องให้พิจารณาช่วยเหลือด้วย” ทั้งนี้ รถร่วมบริการขสมก.ในบางเส้นทางไม่ได้วิ่งเต็มศักยภาพเหมือนปกติเพราะพนักงานขับรถบางคนก็ไม่อยากขับเข้าไปในเส้นทางที่มีความวุ่นวายหรือไม่สามารถวิ่งให้บริการได้จึงทำให้รถที่ให้บริการในบางเส้นทางลดลงไปด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เบรครถร่วมขึ้นค่าโดยสาร

Posts related