เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เรื่อง Body Typography หรือการสร้างสรรค์ตัวอักษรด้วยท่าทาง ซึ่งจัดโดยบริษัท NAM แห่งประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น ผมจะเล่าประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากงานสัมมนาครั้งนี้ให้ผู้อ่านฟังครับ งานสัมมนานี้มีผู้ร่วมงานประมาณ 30 คน เมื่อผมเข้าไปในห้องสัมมนา ก็พบไอแพดวางอยู่บนขาตั้งกล้องหลายเครื่อง  จากนั้นวิทยากรก็เล่าจุดประสงค์ของงานสัมมนานี้คือ ต้องการให้ผู้อบรมแต่ละกลุ่มสร้างอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่จากคำที่กำหนดให้ ตัวอย่างเช่น ผมอยู่กลุ่ม 12 และได้รับอักษร G หน้าที่ของผมคือเป็นผู้กำกับให้เพื่อนในกลุ่ม 12 แสดงท่าทางให้เป็นอักษร  G นั่นเอง นอกจากแสดงท่าทางแล้ว เราอาจใช้สิ่งของประกอบ เช่น เก้าอี้ โคมไฟ เบาะรองนั่ง ตะกร้า ที่ทางผู้จัดงานเตรียมไว้ให้แล้วครับ พระเอกของงานสัมมนานี้คือแอพบนไอแพดชื่อ  smart_slitcamera ซึ่งเป็นแอพถ่ายภาพที่สามารถยืดขยายสิ่งของที่เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ  ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเหยียดแขนช้าๆ แล้วใช้แอพนี้ถ่ายภาพแขน ภาพที่ได้ออกมาก็ดูราวกับว่า แขนของเรายาวเหยียด ดังนั้นวิทยากรจึงให้ผู้เข้าอบรมใช้แอพนี้สร้างสรรค์ตัวอักษรโดยการแสดงท่าทางเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดรูปแบบตัวอักษรที่ต้องการนั่นเอง แต่การสร้างอักษรแต่ละตัวนั้นจะต้องมีการลองผิด ลองถูกหลายครั้ง และหลังจากที่เราถ่ายภาพตัวอักษรที่ต้องการแล้ว ก็ต้องแจ้งให้วิทยากรมาดูเพื่อตรวจสอบความถูกต้องหรืออ่านตัวอักษรออกเสียก่อน จึงจะบันทึกรูปได้ และต้องทำภายในเวลาที่กำหนดด้วย เพราะงานสัมมนานี้ใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงและมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะใช้เวลาถ่ายรูปไม่เกิน 20 นาที เพื่อให้โอกาสกลุ่มอื่นได้ถ่ายรูปบ้าง ตัวอย่างเช่น ผมต้องใช้แอพถ่ายประมาณ 10 ครั้ง เพราะต้องจัดท่าทางและการเคลื่อนไหวให้ลงตัว จนกว่าจะได้ภาพอักษร G ที่อ่านได้อย่างชัดเจน นี่คือขั้นตอนที่สนุกที่สุดของงานสัมมนานี้ครับเพราะผมรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ! หลังจากที่ทุกกลุ่มถ่ายภาพเสร็จแล้ว ก็รอจนกระทั่งวิทยากรรวบรวมภาพถ่ายทั้งหมด และเปิดให้ทุกคนได้ดูผลงานจากงานสัมมนานี้ ภาพถ่ายในบทความนี้คือผลงานของผู้อบรมในงานสัมมนานี้ครับ  ประโยคที่วิทยากรต้องการให้ผู้อบรมสร้างคือ The bginning of all things are small. ข้อคิดที่ผมได้จากงานสัมมนานี้คือ 1.กระบวนการสร้างสรรค์ต้องผ่านการลองผิด ลองถูกหลายครั้งจนกว่าจะได้ผลงานที่ต้องการ หลายกลุ่มต้องถ่ายใหม่เป็นสิบครั้งกว่าจะได้ตัวอักษรที่ต้องการ มีบางผลงานที่โดดเด่นสะดุดตาเพราะเกิดจากความบังเอิญ แต่ไม่มีกลุ่มใดที่สร้างอักษรได้สมบูรณ์แบบในครั้งแรกครับ 2.เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสร้างสรรค์ผลงานแปลกๆ ซึ่งแต่เดิมทำได้ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย จุดประสงค์ของแอพ smart_slitcamera คือการถ่ายภาพเหนือจริง แต่วิทยากรได้นำแอพนี้มาประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพท่าทางหรือสิ่งของเพื่อเปลี่ยนเป็นตัวอักษร ดังนั้นผู้อ่านที่สนใจและมีอุปกรณ์ไอโอเอส เช่น ไอแพด ไอพอด ไอโฟน ก็สามารถซื้อแอพนี้จากไอทูนมาติดตั้งในเครื่องครับ แอพนี้ราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากครับ เพราะสามารถนำมาสร้างผลงานศิลปะที่โดดเด่นและไม่ซ้ำใครได้ 3.เนื่องจากแอพนี้สร้างอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ได้ ดังนั้นเราก็ใช้แอพนี้สร้างอักษรภาษาไทยขึ้นมาได้เช่นกัน หลังจากที่ผมได้เข้าร่วมงานสัมมนานี้ ผมจึงคิดว่า อาจให้ลูกศิษย์ฝึกความคิดสร้างสรรค์ด้วยการใช้แอพนี้สร้างประโยคภาษาไทยเพื่อส่งเป็นการบ้านในวิชาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ครับ  ผู้อ่านอาจลองนำแอพนี้ไปประยุกต์ถ่ายภาพในแนวอื่นก็ได้ครับ แต่ไม่ว่าจะใช้แอพใดก็ตาม มันเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เราใช้จินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานให้ปรากฏ ดังนั้นผมขอชวนผู้อ่านหาเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนจินตนาการในสมองของเราให้เป็นผลงานที่ผู้อื่นมองเห็นได้กันเถอะครับ. ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Thongchai.R@chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เปลี่ยนท่าทางมนุษย์เป็นตัวอักษรด้วยแอพ – 1001

Posts related