เมื่อใครต่อใคร กำลังใช้งาน 3 จี หรือแม้กระทั่งความฝันอยากใช้งาน 4 จี ทุกพื้นที่ของประเทศ แล้วระบบจีเอสเอ็ม(GSM)  2 จี จะหายไปมั้ย? ไขข้อข้องใจโดย ร้อยโท ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการประจำรองของพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)และประธานคณะกรรมการกิจการโทร คมนาคม (กทค.) ว่า ระบบจีเอสเอ็ม 2 จีในประเทศไทยยังคงต้องมีอยู่ เนื่องจาก หากประเทศไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องมีระบบรองรับการใช้งานโรมมิ่งของต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เพราะบางประเทศมีการใช้งาน จีเอสเอ็ม 2 จีอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องหาคลื่นความถี่ให้เพียงพอและเหมาะสม แต่เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะพัฒนาคลื่นความถี่เดิมที่จะหมดสัญญาสัมปทานมาประมูลโดยเทคโนโลยี 4 จี ที่ทุกอย่างต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ต  เฉกเช่นคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่หมดสัญญาสัมปทานไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 56 ที่มีลูกค้าอยู่กว่า 18 ล้านเลขหมาย ที่จะนำไปสู่การประมูล 4 จี ภายในปีหน้า แต่กลับพบว่ายังมีลูกค้าอีกจำนวนถึง 10 ล้านเลขหมาย ที่ยังไม่โอนย้ายไปยังค่ายมือถืออื่น ๆ โดยมีระยะเวลาเหลืออีกเพียงประมาณ 10 เดือนเท่านั้น ที่มาตรการเยียวยาลูกค้า 1 ปี จะหมด ร้อยโท ดร.เจษฎา ระบุว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักใจ เนื่องจากคาดว่าในจำนวน  10 ล้านเลขหมายอาจจะเป็นลูกค้าที่เป็นชาวบ้านจริง ๆ ที่ยังไม่รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารว่าระบบมือถือ 2 จี ที่ใช้งานอยู่นั้นหมดอายุสัมปทานเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น นี่คือการบ้านที่ กสทช. ต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้จำนวน 10 ล้านเลขหมายมีการโอนย้ายออกในระยะเวลาเยียวยา 1 ปี ที่จะหมดในวันที่ 15 ก.ย. 57 ซึ่งในขณะที่เอกชนก็ให้ความร่วมมือออกโปรโมชั่นเสนอแพ็กเกจต่าง ๆ รวมถึงการออกสมาร์ทโฟนราคาถูกลง เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน งานนี้ หากลูกค้าที่ใช้งานทรูมูฟ และดีพีซี (ภายใต้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ) ระบบ 2 จี เมื่อได้รับข้อความเอสเอ็มเอสจากผู้ให้บริการ ควรเร่งดำเนินการโอนย้ายไปยังค่ายมือถืออื่น ๆ ก่อนที่จะเกิดปัญหาซิมดับเมื่อครบกำหนดมาตรการเยียวยาของกสทช. สุรัสวดี สิทธิยศ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เรื่องของระบบ 2 จี จีเอสเอ็ม – คู่ขนาน

Posts related