รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) ของไทย ส่วนใหญ่มาจากบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) มีปริมาณการใช้บริการสูงขึ้น โดยอยู่ในสัดส่วน 99.8% และมีมูลค่าในสัดส่วน 97.7% ของบริการธุรกรรมเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในไตรมาส 2 ปี 56 มีจำนวน 157 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 11,000 ล้านบาท ดังนั้นหากอนาคตมูลค่าใช้จ่ายธุรกรรมเงินอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญ ก็อาจต้องทบทวนกฎหมาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน ซึ่งจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อและกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนได้ “ข้อมูลสถิติในปัจจุบัน แม้ผลกระทบของการใช้อี-มันนี่ ต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย ยังไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวล เนื่องจากมูลค่าใช้จ่ายด้วยอี-มันนี่ยังมีน้อยมาก โดยในปี 55 ที่ผ่านมา การใช้อี-มันนี่ ของไทยมีมูลค่ารวมที่ 35,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 0.01% ของมูลค่ารวมธุรกรรมการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.23% ของปริมาณเงินในความหมายกว้าง แต่ในอนาคตหากมูลค่าใช้จ่ายอี-มันนี่ของไทยเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและระดับความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินที่มีผลต่อเสถียรภาพระดับราคา ก็อาจต้องทบทวนกฎหมาย” ทั้งนี้ การใช้ อี-มันนี่ หากสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสามารถส่งผลกระทบโดยตรงในระดับมหภาคต่อนโยบายการเงินใน 2 ด้าน ทั้งด้านปริมาณเงินและด้านการดูแลเสถียรภาพระดับจะมีผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไป และผลกระทบต่ออัตราการหมุนเวียนของเงิน ที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจผ่านอัตราการหมุนเวียนของเงินที่มีมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาในต่างประเทศ การใช้ อี-มันนี่ ผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอย่างแพร่หลาย ทำให้อัตราการหมุนเวียนของเงินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และส่งผลต่อการขยายตัวของระดับราคาหรืออัตราเงินเฟ้อได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธนาคารกลางต้องติดตามและประเมินผลกระทบในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เล็งออกกฎหมายคุมธุรกรรมอี-มันนี่

Posts related