เชื่อได้ว่าอุณหภูมิการเมืองไทยนับจากนี้…จะยิ่งทวีความรุนแรง หลังจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 แบบสายฟ้าแลบ ก่อนรอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเชื่อได้ว่ารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะสามารถผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาได้สำเร็จตามเป้าหมายแรกของการเข้ามาเป็นรัฐบาล… เป่านกหวีดระดมมวลชน ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อได้ว่า สังคมไทยต้องเดินทางเข้าสู่ความวุ่นวายกันอีกครั้ง เพราะพรรคฝ่ายค้านได้เป่านกหวีด…ระดมมวลชนที่เห็นต่างออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แม้เหตุการณ์ยังไม่ได้เข้าขั้นรุนแรง แต่…ภาพเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ปิดสนามบิน อันเนื่องมาจากความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อครั้งอดีตได้ผุดขึ้นมาในความคิดของคนไทยอีกครั้ง ว่าชนวนเหตุทางการเมืองครั้งนี้จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์หรือไม่หากเป็นเช่นนั้น! นั่นหมายถึงว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าลงเหว…เพราะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ตกอยู่ในอาการย่ำแย่ สารพัดหน่วยงานต้องพาเหรดปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจลง ทั้งสภาพัฒน์ ทั้งแบงก์ชาติ หรือบรรดาสำนักวิจัยต่าง ๆ เพราะเห็นอาการแล้วไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แม้ทิศทางของสหรัฐเริ่มดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้การส่งออกของไทยต้องเดี้ยง! ตามไปด้วย ล่าสุดแบงก์ชาติเองประเมินว่าการส่งออกไทยในปี 56 นี้ จะขยายตัวได้เพียง 1% แล้วจึงเริ่มผงกหัวในปี 57 นอกจากเรื่องของการส่งออกที่อยู่ในอาการสาละวันเตี้ยลงแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศก็อยู่ในภาวะชะงักงันไปด้วยจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอลง รวมไปถึงการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นเพราะมีความเชื่อมั่นลดลงและมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่พระเอกตัวจริงอย่างเรื่องของการลงทุนของรัฐบาลทั้งในโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาท ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ออกมาได้ สารพัดหน่วยงานลดเป้าเศรษฐกิจดังนั้นการเติบ โตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ต้องเผชิญสารพัดมรสุมคงขยายตัวไม่เกิน 4% เท่านั้น ล่าสุดแบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 3.7% ขณะที่สภาพัฒน์มองว่าเติบโตอยู่ในระดับ 3.8-4.3% ส่วนแบงก์พาณิชย์ต่างประเมินว่าจะเติบโตได้ 3.1% บ้าง บางแห่งประเมินที่ 3.4% บ้าง ขณะท่ีภาคการส่งออกก็พบว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงานภาคเอกชนและนักวิชาการก็ทยอยกันปรับเป้าประมาณการส่งออกในปี 56 จากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์เคยตั้งเป้าในระดับ 7% แต่เมื่อผ่านไปได้เพียง 9 เดือนยอดส่งออกขยายตัวเพียง 0.05% สุดท้ายหลาย ๆ หน่วยงานจำเป็นต้องปรับเป้าส่งออกปีนี้โตแค่ 1% เพียงเท่านี้…ก็แสดงให้เห็นถึงอาการเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจนแล้วไม่เพียงเท่านี้…ในเมื่อปัจจัยทางการเมืองได้ออกมาส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าโอกาสของความรุนแรงอาจเกิดขึ้นก็เป็นได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่หลายฝ่ายจะออกอาการสะดุ้งและหวาดผวากับประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ที่อ่อนไหวกับสถานการณ์แบบนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และหากบานปลายออกไป หรือการชุมนุมยังยืดเยื้อ ก็ยิ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการตัดสินใจหอบเงินเข้ามาลงทุนในไทย ชี้ยืดเยื้อจีดีพีร่วง 0.5% แม้ว่าในเวลานี้ยังไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ได้ว่าจากนี้ไป การเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ “สมประวิณ มันประเสริฐ” รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า หากเหตุการณ์ยืดเยื้อรุนแรงถึงขนาดที่ว่าต้องมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีก เศรษฐกิจไทยจะถดถอยลงไปทันทีอย่างน้อย 0.5% แต่หากไม่ยืดเยื้อไม่รุนแรงมากนัก ก็จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจในไตรมาสนั้นประมาณ 0.2% และในช่วงนี้เป็นไฮซีซั่นของฤดูกาลท่องเที่ยว หากการชุมนุมเกิดขึ้นในหลายจุด แม้ตอนนี้อาจยังไม่เห็นผลกระทบ แต่เมื่อใดที่หลายประเทศเริ่มเตือนประชาชนไม่ให้เดินทางเข้ามาในไทย ก็จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับ “เบญจรงค์ สุวรรณคีรี” ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย มองว่า เรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ กำลังกลายเป็นตัวเร่งสถานการณ์การเมืองให้รุนแรงขึ้น ทำให้ผลกระทบทางการเมืองมีโอกาสมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ โดยสิ่งที่น่ากังวล คือภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว การลงทุนและการส่งออกมีตัวเลขที่ไม่สดใส แต่เมื่อมีการเมืองเข้ามายิ่งกดดันให้การบริโภคชะลอตัวไปอีก ซึ่งต้องรอดูว่าความขัดแย้งจะยาวนานเพียงใด เพราะผลกระทบขึ้นอยู่กับระยะเวลาการชุมนุม ด้าน “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ออกมายืนยันว่า ผลที่จะเกิดขึ้นทันทีคือกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคหดลงแน่ หากการชุมนุมลุกลามบานปลาย เพราะผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในสถานการณ์ จึงชะลอการใช้จ่ายไว้ในกรณีฉุกเฉิน หากเป็นอย่างนี้ต่อเนื่อง ระยะยาวจะส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับ “พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ออกอาการป็นห่วง! เพราะกังวลว่า ภาพเดิมๆ ปัญหาเก่า ๆ จะกลับมาให้เห็นกันอีกโดยเฉพาะการประจันหน้ากันของทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และดูจากท่าทางแล้วมีแนวโน้มพัฒนาเป็นเรื่องราวใหญ่โต สุดท้ายจบลงด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทำให้ประเทศหยุดชะงักการพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถเดินต่อไปได้ และยังฉุดรั้งความเข้มแข็งของประเทศจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ห่วงฤดูท่องเที่ยวสะดุดแน่ ขณะที่แหล่งรายได้เดียวที่เป็นกำลังหลักพยุงเศรษฐกิจไทยมาตลอด คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่คาดการณ์กันว่าในปีนี้จะทำรายได้ให้ถึง 1.7 ล้านล้านบาท หากเหตุการณ์การเมืองรุนแรงก็เชื่อได้ว่าจะส่งผลกระทบและฉุดให้รายได้ที่หวังไว้พังพาบลงมาได้เช่นกัน โดย “ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สทน. บอกว่า ปัญหาการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นจะยังไม่มีผลกระทบในระยะสั้นมากเท่าใดนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ได้จองห้องพักล่วงหน้าในเดือน พ.ย-ธ.ค.มาแล้ว แต่ถ้าแนวโน้มของสถานการณ์เริ่มปะทุรุนแรงบานปลาย คงสะเทือนช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่นปลายปีนี้ ยาวไปจนถึงปีหน้าทันที ขณะเดียวกันยังส่งผลไปถึงการตัดสินใจของกลุ่มลูกจ้างพนักงานบริษัท อาจชะลอตัดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนนี้ เพราะต้องรอผลการพิจารณาโบนัสจากสภาพเศรษฐกิจเชื่อว่าจะหดตัวตามไปด้วย ความหวาดกลัวของคนไทย…จะเกิดขึ้นตามที่ตระหนกกันหรือไม่ ณ วันนี้ คงยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่ถ้าวันใดที่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกล่ะก็ …เมื่อนั้นเศรษฐกิจไทยก็ย่อมเดินลงเหวแน่นอน. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชน หวั่นการเมืองตัวถ่วงฉุดเศรษฐกิจไทยเดินลงเหว

Posts related