ตอนนี้ไปไหนก็มีแต่คนบ่นว่าอากาศร้อนเหลือเกิน อากาศยิ่งร้อนคนก็ยิ่งต้องเปิดแอร์มากเพื่อดับร้อน แต่พอได้รับบิลค่าไฟฟ้า กลับร้อนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะค่าไฟฟ้าพุ่งกระฉูดเลยทีเดียว ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) มีมติให้ปรับค่าเอฟทีรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2557 เพิ่มขึ้นอีก 10 สต./หน่วย จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 59 สต./หน่วย จากปัจจัยค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ค่าไฟฟ้าขึ้นไปอยู่ที่ 3.96 บาท/หน่วย ค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ประกอบไปด้วยสองส่วนคือ ค่าไฟฟ้าฐาน และค่าเอฟที ค่าไฟฟ้าฐานคือส่วนที่เป็นต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจัดจำหน่าย และค่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า ในขณะที่ค่าเอฟที ส่วนใหญ่คือค่าเชื้อเพลิงที่ใช้การผลิตไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาตลาดและค่าเงินบาท จึงต้องมีการปรับปรุงทุก ๆ สี่เดือน ปัจจุบันเชื้อเพลิงหลักที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติ โดยเราใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูงถึง 68% ซึ่งในจำนวนนี้เราต้องนำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ 20% และนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติอัดเหลว (แอลเอ็นจี) อีก 5% ซึ่งแนวโน้มในอนาคตนั้นเรามีแต่จะต้องนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะแหล่งก๊าซในประเทศกำลังจะหมดไป และหาทดแทนได้ยากขึ้น ในขณะที่การสับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นอย่างเช่น ถ่านหินหรือนิวเคลียร์ก็ถูกต่อต้านและไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาสังคม ดังนั้นถ้าราคาก๊าซธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สูงขึ้น หรือค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ก็จะกระทบต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าซึ่งมีที่มาจากแต่ละแหล่งมีต้นทุนที่แตกต่างกันดังนี้ จากตัวเลขข้างต้นเราคงเห็นแล้วว่า ถ้าเรายังไม่สามารถสร้างสมดุลด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดขึ้นโดยเร็วแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ (ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า) เราจะต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 80% และประมาณ 50% จะมาจากการนำเข้าซึ่งมีราคาแพง ถึงตอนนั้นคนไทยก็เตรียมรับมือกับค่าไฟหน่วยละ 5 บาทได้เลยครับ!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนวโน้มค่าเอฟทีมีแต่จะสูงขึ้น – พลังงานรอบทิศ

Posts related