สื่อใหม่ออนไลน์ในช่วงหลังเริ่มออกตัวได้แรงและเริ่มจะแย่งเค้กการตลาดโฆษณาจากโฆษณาหน้าจอทีวีหรือเคเบิลทีวีได้มาก ในตลาดโลกโดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากไฟแนนเชียลไทม์ ในระยะหลังนี้กลุ่มดาราศิลปินอเมริกันเปิดตัวในวิดีโอดิจิตอลคลิปแบบสั้น ๆ มากขึ้น และวิดีโอดิจิตอลเเม้ว่าจะแพงแต่ก็ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะผู้อยากลงโฆษณาสามารถที่จะรู้ได้ว่าผู้ชมมีจำนวนเท่าไร ซึ่งแตกต่างจากทีวีและเคเบิล ที่ใช้การประเมินจำนวนผู้ชมมากกว่าและเป็นประมาณการเท่านั้น ตลาดโฆษณาลงในทีวีทั่วโลกอยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท หรือ 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งนับว่าใหญ่มาก บริษัทอินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน ก็ได้ผลิตซีรีส์ทางทีวีออกทางมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และทีวี ซึ่งออกอากาศด้วยเว็บไซต์และในระยะหลังเอ็นบีซียูนิเวอร์แซลของคอมแคสท์ก็หันมาเล่นทางวิดีโอดิจิตอลมากขึ้น ซึ่งมักจะเป็นคลิปวิดีโอสัก 4 – 8 นาที เพื่อให้ผู้ชมทางสื่อใหม่ได้รับชม และเอโอแอลหรืออเมริกันออนไลน์สื่อใหม่ยักษ์ใหญ่ของโลกก็หันมาเล่นทางนี้ด้วย สำหรับโฆษณาที่ออกอากาศในทีวีและเคเบิลทีวีของสหรัฐ (ทีวีของสหรัฐจะเป็นเคเบิลจ่ายรายเดือนมากกว่า ไม่เหมือนของไทย) ในปีนี้สูงถึงสองล้านล้านบาทหรือ 68.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมากกว่าดิจิตอลวิดีโอถึง 11 เท่าซึ่งอยู่ประมาณที่ 176,000 ล้านบาท หรือ 5.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในระยะหลังประชาชนชาวสหรัฐใช้เวลาชมดิจิตอลวิดีโอมากขึ้น เรามาดูสถิติการโฆษณาผ่านหน้าทีวีของสหรัฐสักนิด จำนวนผู้ชมเคเบิลทีวีในปีค.ศ. 2000 มีประมาณ 68 ล้านคน แต่ในปี ค.ศ.2015 คาดว่าจะเหลือประมาณ 52 ล้านคน ในขณะที่ไอพีทีวี เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2005 ในปี ค.ศ. 2015 คาดว่ามีผู้ชมถึง 15 ล้านคน ซึ่งเร็วมากและนอกจากนี้ผู้ชมทีวีผ่านจานดาวเทียมในปี ค.ศ. 2000 มีประมาณ 13 ล้านคน แต่เริ่มมาอิ่มตัวที่ประมาณ 34 ล้านคนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึงปัจจุบัน ถ้าหากมาดูราคาโฆษณาในอัตราผู้ชม 1,000 ครั้งเท่ากันหมดจะเป็นดังนี้ ผ่านเคเบิลทีวี 468 บาท ผ่านดิจิตอลสตรีม 690 บาท ผ่านเน็ตเวิร์ก 1,323 บาท ซึ่งก็หมายความว่าผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือสิ่งใหม่ก็จะแพงสุด เพราะผู้ซื้อโฆษณาสามารถรู้จำนวนครั้งผู้ชมว่าเท่าไรและสามารถแปลงจากผู้ชมมาเป็นผู้ซื้อหรือลูกค้าได้เท่าไร เขาสามารถคำนวณได้ชัดเจนว่ามีอัตราส่วนเท่าไร และทำให้เขาสามารถจัดสรรงบประมาณในการใช้สำหรับการโฆษณาได้แม่นยำ มาดูสถิติรายได้จากการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกามีดังนี้ ผ่านด้วยวิธีการค้นหาหรือเสิร์ช (Search) ใหญ่ ๆ ก็คือกูเกิลนี่แหละมีมากถึง 41% ผ่านแผ่นป้ายโฆษณาต่าง ๆ 19% ผ่านระบบมือถือเคลื่อนที่ 19% วิดีโอดิจิตอล 7% และสื่ออื่น ๆ อีก 14% ดูเช่นนี้แล้วคงรู้ว่าสื่อใหม่ประเภทกูเกิลหรือเฟซบุ๊กเน้นการโฆษณามากมายแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์โดยเฉพาะดิจิตอลวิดีโอคลิปทั้งหลายราคาเริ่มตกลงมาเรื่อย ๆ ปีที่แล้วราคาลดลงเหลือ 690 บาทต่อผู้ชมหนึ่งพันคนเท่านั้น เพราะมีผู้มาซื้อโฆษณาผ่านวิดีโอดิจิตอลมากขึ้น และโฆษณาผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กก็แพงสุดคือ 1,323 บาทต่อผู้ชมพันคน ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นเพราะจำนวนผู้ชมมาจากกลุ่มอายุระหว่าง 18-34 ปี จะใช้เวลาดูวิดีโอดิจิตอลมากขึ้นมาก แต่อัตราการดูผ่านช่องทางทีวีก็ยังคงที่ คุณปีเตอร์ เนย์เลอร์ หัวหน้าฝ่ายโฆษณาบริการวิดีโอออนไลน์ได้กล่าวตบท้ายว่า “ไม่รู้นะ ผมคิดของผมเองว่าโฆษณาออนไลน์นี้ถึงยุคไพร์มไทม์ของมันแล้ว” สำหรับประเทศไทยก็คงจะวิ่งไล่ตามกันไปอีกสักสองสามปีข้างหน้า. รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด Boonmark@stamford.edu

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โฆษณาออนไลน์เริ่มแรง – โลกาภิวัตน์

Posts related