นอกจากภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันอย่างสากลแล้ว “ภาษาจีน” ก็ถือเป็นอีกภาษาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันยิ่งในยุคนี้ที่ประเทศจีนได้ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจของโลกคนใหม่แทนชาติตะวันตกทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนอาจจะต้องเรียนรู้ภาษาจีนเอาไว้อีกสักภาษาหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมหากจะตัดสินใจร่วมทำธุรกิจกับคนจีนในอนาคต ส่วนประเทศไทยเองก็มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นในทุกระดับกับประเทศจีนโดยเฉพาะเรื่องการค้าเห็นได้จากการส่งออกและนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับประเทศจีนเป็นลำดับต้น ๆ และยิ่งในเวลาอันใกล้นี้จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีด้วยความที่เป็นภูมิภาคเนื้อหอมแห่งใหม่ของโลกก็ช่วยดึงดูดประเทศจีนให้ความสนใจหอบเงินเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดร.บุรินทร์ ศรีสมถวิล ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาที่สองสาขาวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในรายการเศรษฐกิจติดจอทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าจากนี้ไปประเทศจีนจะเป็นประเทศที่มีความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุนดังนั้นจึงอาจมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มเติมเพื่อใช้สื่อสารให้สะดวกกันมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ทำงานกับชาวจีนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านภาษาอยู่มากแม้ว่าพอจะรู้บ้างแต่ก็ใช้สื่อสารไม่ได้จึงถือเป็นข้อจำกัดของการทำงานได้อย่างไม่เต็มที่มากนัก “ต่อไปเชื่อว่าภาษาจีนน่าจะเป็นภาษาที่สำคัญในอาเซียนดังนั้นภาษากลางที่ 3 ของคนไทยนอกจากภาษาไทย และภาษาอังกฤษก็น่าจะเป็นภาษาจีนเพราะว่าองค์กรใหญ่ ๆ ที่ทำงานในไทยก็เป็นของคนจีนหรือเกี่ยวข้องกับประเทศจีนทั้งนั้นขณะที่สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาเอกภาษาจีนในระดับอุดมศึกษามี 55 แห่งในไทยส่วนใหญ่ก็มีคุณภาพใกล้เคียงกันแต่จะแยกความจำเป็นของการเรียนการสอนออกไปตามความต้องการของผู้เรียน ทั้งเรียนเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจสื่อสาร หรือด้านอื่น ๆ” สำหรับการสร้างความน่าสนใจให้คนไทยเข้ามาเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มขึ้นนั้นหน่วยงานทุกภาคส่วนควรหาช่องทางส่งเสริมและแนะนำ ว่าต่อไปนี้ภาษาจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากหลังจากที่เปิดเออีซีแล้วจึงอาจหาช่องทางสนับสนุนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนเจ้าของกิจการเองก็ควรหันมาให้ความสำคัญด้วยโดยอาจส่งเสริมให้บุคลากรไปเรียนภาษาจีนเพิ่มเช่น อาจจับมือกับโรงเรียนสอนภาษาที่เป็นเอสเอ็มอีจัดการเรียนการสอนภาษาจีนที่สามารถใช้ได้กับงานที่ทำอยู่เพื่อพัฒนาคุณภาพของบุคลากรภายในองค์กรของตัวเองให้มีประสิทธิภาพซึ่งเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งทำหรือให้เจ้าของกิจการยอมควักกระเป๋าจ้างคนของตัวเองเข้าไปเรียนให้ได้ ทั้งนี้สถาบันสอนภาษาจีนเองก็ยังต้องปรับตัวโดยสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเรียนเพิ่มและคงไม่ต้องรอให้บริษัทต่าง ๆ เดินเข้ามาหาแต่ต้องไปหาบริษัทเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนชี้แจงให้ทราบถึงความสำคัญของการเรียนภาษาจีนอย่างเช่น ต้องบอกให้รู้ว่าเมื่อเรียนแล้วเรียนทำไม หรือไม่เรียนไม่ได้ต้องบอกให้ชัดให้เจ้าของกิจการเข้าใจพร้อมกับจัดหลักสูตรการสอนให้ครอบคลุมตามความต้องการอย่างเหมาะสมด้วย นอกจากนี้ในรายของการสอนผ่านช่องทางอิสระเช่น รับสอนตามบ้านซึ่งส่วนใหญ่ใช้ช่องทางการติดต่อและประชาสัมพันธ์ผ่านสังคมออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันแต่ก็คิดค่าสอนราคาสูงก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจเรียนจะเลือกได้แต่เมื่อเรียนจบแล้วก็อาจจะไม่ได้รับวุฒิอะไรรับรองว่าเรียนจบ หรือเมื่อเรียนจบไปแล้วก็อาจจะพอพูดได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่างไรก็ตามในปี 57 ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เตรียมจัดหลักสูตรการเรียนภาษาจีนใหม่ไว้เพื่อสอนให้บุคลากรสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนได้โดยจะพิจารณาการสอนเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับความต้องการเช่น หากต้องการเรียนรู้ภาษาจีนกับการทำงานคอมพิวเตอร์ ภาษาจีนกับการออกแบบซึ่งแต่ละอย่างจะใช้ภาษาที่มีศัพท์เฉพาะไม่เหมือนกัน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับงานได้อย่างถูกต้องและนำไปใช้ในธุรกิจต่าง ๆ ได้ในทันทีขณะเดียวกันยังเป็นการป้อนบุคลากรให้มีความรู้พื้นฐานด้านภาษาจีนที่ตรงกับงานได้อีกด้วย ดร.บุรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่าคนไทยมีความเก่ง และขยันหาความรู้โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษาต่างชาติแต่ก็ไม่อยากให้คิดเรียนไปตามกระแส แต่เมื่อตัดสินใจลงทุนควักเงินไปเรียนแล้วต้องดูด้วยว่าเรียนไปแล้วสามารถใช้กับชีวิตประจำวันหรือใช้เพื่อทำงานได้หรือไม่ที่สำคัญอยากให้มองถึงความจำเป็นในอนาคตพิจารณาความพร้อมของตัวเองซึ่งภาษาจีนก็ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลายคนอาจต้องเรียนรู้เพื่อเป็นภาษาที่สามติดตัวไปประกอบอาชีพในวันข้างหน้า.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะเรียน“ภาษาจีน” ภาษาที่สามรับเออีซี – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related