การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) หรือ เออีซีในปี 2558 ส่งผลให้ภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่กฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การค้า บริการ และการลงทุน แน่นอนว่า อสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเออีซีทั้งใน เชิงบวกและลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเดินทางไปมาหาสู่กันของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดอุปสงค์ต่ออสังหาริมทรัพย์ในหมวดโรงแรม ที่พัก และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่าประเภทอื่น ๆ ตามมาจำนวนมาก เช่น เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียมเพื่อการเช่า และในอนาคตจะเกิดอุปสงค์ต่อคอนโดมิเนียมเพื่อการซื้อขาย เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยประเภทที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อขายกันได้ในหลายประเทศ จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างกว้างขวางในทุกประเทศสมาชิก โดยเฉพาะโครงสร้างด้านการคมนาคมสื่อสาร มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งทางหลวง มอเตอร์เวย์ ถนนหลายช่องจราจรระหว่างเมือง เส้นทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางรถไฟระบบรางคู่สนามบินพาณิชย์ ยังส่งผลให้เกิดความต้องการวัสดุก่อสร้างและแรงงานจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลเชิงลบด้านต้นทุนการก่อสร้างที่จะสูงขึ้น การแข่งขันกันดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ อาจส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องขยายสิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หรืออะลุ้มอล่วยมากขึ้น หรือการให้สิทธิประโยชน์เป็นการเฉพาะเพื่อส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์และประเภทอื่น ๆ จะมีความเชี่ยวชาญระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่จะแสวงหาโอกาสในการออกไปลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสมาชิก นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศมูลค่า 2 ล้านล้านบาท และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 มีผลช่วยให้เกิดการขยายตัวของเมือง และยังเพิ่มความต้องการในด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งมีส่วนช่วยให้แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2557 เติบโตได้ดี เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงตลาดการค้าการลงทุน นำความเจริญสู่ภูมิภาค ทั้งจังหวัดหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการต่างเริ่มลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง เพราะมองเห็นโอกาสจากความเจริญที่จะเกิดขึ้น และจากปัจจัยดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยสร้างความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตามมา ธอส. ยังได้รองรับการก้าวเข้าสู่เออีซีด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุก ภายใต้แนวคิด “ก้าวไกล ก้าวทัน AEC กับ ธอส. 2557” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน เริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มงานสาขาภูมิภาค ได้แก่ สายงานสาขาภูมิภาค 1 ประกอบด้วย ฝ่ายสาขาภาคเหนือ และฝ่ายสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายงานสาขาภูมิภาค 2 ประกอบด้วย ฝ่ายสาขาภาคตะวันออกและภาคกลาง ฝ่ายสาขาภาคใต้และภาคตะวันตก โดยมีรองกรรมการผู้จัดการ กำกับดูแล เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแกร่ง รองรับการแข่งขันและความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ขณะที่ นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. เปิดเผยว่า หัวเมืองที่ ธอส. พร้อมที่จะเข้าไปพัฒนาและให้บริการสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์จะเป็นจังหวัดใหญ่หรือจังหวัดชายแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก หนองคาย อุบลราชธานี อ.ชะอำ เพชรบุรี อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังอยู่ในเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนนและระบบราง ที่จะเป็นประตูผ่านเข้า-ออกประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน อย่างไรก็ดีด้วยการเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าไปแข่งขันในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ของรัฐอย่างธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารพาณิชย์ของเอกชนที่บุกเข้าไปตั้งสาขาเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศสมาชิกบ้างแล้ว ดังนั้นภารกิจสำคัญจึงยังอยู่ที่การให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าคนไทยเท่านั้น ทั้งนี้หากมองในแง่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.มองว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจมากที่สุด เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ค่อนข้างสูง อีกทั้งมีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ที่สำคัญการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมั่นคง เพียงแต่มีข้อเสียคือ อยู่ไกลจากประเทศไทย ส่วน เมียนมาร์ ก็มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย แต่มีความเสี่ยงที่กฎหมายยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีกฎหมายอาคารชุด กฎหมายการลงทุนยังไม่ชัดเจน นายสัมมา กล่าวด้วยว่า ความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้เป็นทั้งโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและหนทางสู่ความล้มเหลว ขึ้นอยู่กับการให้ความสนใจใฝ่หาข้อมูล การลงพื้นที่เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านกฎหมาย การตลาด และการลงทุน รวมไปถึงการแสวงหาพันธมิตรที่มีความชำนาญและซื่อสัตย์ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนเชิงโลจิสติกส์ที่ดี เนื่องจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทต้องเกี่ยวข้องกับการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ขนาดใหญ่และขนาดหนัก รวมทั้งบุคลากร แรงงานระดับต่าง ๆ จำนวนมากด้วย. พริษฐ์ เอี่ยมพงษ์ไพบูลย์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ธอส.’ย่างก้าวที่มั่นคงสู่ AEC

Posts related