ที่ว่าไม่ธรรมดา… เพราะแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริคเตอร์ ที่ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากจะเหนือความคาดหมายของนักวิชาการด้านแผ่นดินไหว  มีขนาดใหญ่สุดและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนคนไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบ 50 ปี จากข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวที่มีการบันทึกด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508-2557 แล้ว ยังทำให้เกิดสมมุติฐานใหม่ ๆ ตามมา  เนื่องจากความผิดปกติของการเกิดแผ่นดินไหวตามมา หรือที่กรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อก โดยจากข้อมูลของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา จากวันที่ 5 พ.ค. 57 จนถึงวันที่ 25 พ.ค. 57 เวลา 10.00 น. เกิดแผ่นดินไหวตามมา ขนาดมากกว่า 3.0 หรือขนาดที่ประชาชนรับรู้ถึงความสั่นสะเทือนได้นั้น มีถึง 192 ครั้ง และขนาดน้อยกว่า 3.0 มากกว่า 740 ครั้ง เรียกว่ายังทำให้ผู้ประสบภัยในจังหวัดเชียงรายและใกล้เคียงนอนหลับได้อย่างไม่เต็มที่นักความรุนแรงและผลกระทบของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้จุดประกายแนวคิดทางวิชาการใหม่ ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เริ่มพบจุดสังเกตที่แตกต่างไปจากทฤษฎีหรือสถิติที่เคยมีมา อย่างเช่นแนวคิดของ “ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล” หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อมูลสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ย้ำว่าตัวเองไม่ใช่นักธรณีวิทยาแต่เป็นผู้สนใจเรื่องภัยพิบัติ  ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ บอกว่า จากการนำข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีทั้งนี้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส รวมถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อื่น ๆ พบว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ อาจไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวใหญ่หรือเมนช็อกเพียงครั้งเดียว  แต่ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าน่าจะเกิดแผ่นดินไหวหรือเมนช็อกเกือบ 10 ครั้ง และเกิดจากรอยเลื่อนทั้งสิ้น 4 แนว ซึ่งอยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาคือ รอยเลื่อนแม่สรวย รอยเลื่อนแม่ลาว และอีก 2 รอยเลื่อนใหม่ที่อยู่ใกล้เคียง คือรอยเลื่อนเชียงรายและรอยเลื่อนพาน ซึ่งยังไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นรอยเลื่อนที่มีอยู่แล้วและเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 3 มาแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จากความคิดเดิมที่บอกว่าเกิดจากแผ่นดินไหว 1 ตัว และทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมามากขนาดนี้ ในประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตามหลักการวิทยาศาสตร์พบว่า แผ่นดินไหวขนาดดังกล่าวหากเกิด 1 ครั้ง แล้วเกิดอาฟเตอร์ช็อกตาม มานั้น ไม่ควรมีรัศมีตามความยาวรอยเลื่อนเกิน  5 กิโลเมตร ซึ่งเกินกว่านั้นมองว่าไม่น่าเป็นไปได้ในทางธรณีวิทยา  ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ บอกอีกว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเป็นแผ่นดินไหวที่เรียกว่าเป็น Multiple Earthquake ของแผ่นดินไหวหลักทั้งหมดอย่างน้อย 10 ครั้ง โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเชียงราย ซึ่งประกอบด้วยรอยเลื่อน 4 แนวที่กล่าวมาแล้วมีการเคลื่อนตัวสัมพันธ์กันทำให้เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวคิดนักวิชาการบางท่าน ที่เคยคาดการณ์หรือให้ข้อสังเกตไว้ว่าบริเวณดังกล่าวยังมีรอยเลื่อนหรือรอยแตกของเปลือกโลกขนาดเล็กอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้ระบุในแผนที่รอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวัง อาจเรียกได้ว่าเป็นรอยเลื่อนนอกสายตา แต่ก็มีความสามารถในการสร้างความเสียหายได้หากเกิดใกล้ชุมชน ส่วนความกังวลที่ว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้หรือไม่นั้น ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า จากการนำข้อมูลธรณีฟิสิกส์มาสร้างแบบจำลองทางวิศวกรรม ทำให้สามารถประเมินและยืนยันได้ว่า ผลจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ จะไม่กระทบถึงรอยเลื่อนแม่จันอย่างแน่นอน  แต่ที่ยังไม่มั่นใจก็คือ การเกิดแผ่นดินไหวแบบนี้จะเป็นสัญญาณเตือนการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่กว่าตามมา เหมือนกับที่เกิดในประเทศนิวซีแลนด์หรือไม่ ซึ่งคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป  …ย้ำนี่คือการนำเสนอความคิดเห็นด้านวิชาการ ไม่ใช่สร้างความตื่นตระหนก …. ความคิดเห็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาและเข้าใจภัยพิบัติทางธรรมชาติในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้เรารับมือกับภัยพิบัติที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ดีกว่าที่ทำอยู่ในขณะนี้. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แผ่นดินไหวที่ไม่ธรรมดา

Posts related