บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันที่มีรายได้และทำให้มีกำไรได้นั้น นอกจากจะเพราะการบริหารงานของผู้บริหารแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ  จากที่เคยมีกำไร 200 ล้านบาทในปี 47 แต่ปี 56 ทำกำไรได้ถึง 1,250 ล้านบาท และตั้งเป้ากำไรปีนี้ที่ 1,700 ล้านบาท เมื่อมีการค้าขายบนโลกออนไลน์ การสั่งและส่งของจึงได้เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่ายอดการส่งพัสดุโดยเฉพาะอีเอ็มเอส (EMS) ปี 56 โตขึ้น 10% จากจำนวนการส่ง 82 ล้านชิ้นในปี 55 จนถึงปี 56 อยู่ที่ 91 ล้านชิ้น และเมื่อปริมาณการส่งมากขึ้น ปัญหาก็เกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน นั่นคือ การส่งสิ่งของล่าช้า เกิดการชำรุด หรือ หนักสุดคือ ไม่ได้รับเลย นางสาวอานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย เล่าถึงแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพบริการว่า ได้มีการจัดประชุมทุกภาคส่วนเพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่ตรงกัน และแต่งตั้งคณะทำงานด้านคุณภาพบริการ “เรามีการประเมินการทำงานของทุกฝ่าย และวิเคราะห์ความเหมาะสมของอัตรากำลัง หากไม่เพียงพอให้ขอคนเพิ่ม และจ้างเหมาทันทีเพื่อความเหมาะสมในทุกพื้นที่ และตรวจสอบความเหมาะสมของเครื่อง Track&Trace หากไม่พอให้ขอเพิ่มทันที” นางสาวอานุสรา เล่าว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามแก้ปัญหา ยอมรับว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นปัญหาด้านบุคคล ซึ่งพนักงานนำจ่ายมีจำนวนมากทั้งที่เป็นพนักงานของไปรษณีย์ไทยเองและไปรษณีย์อนุญาต อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทยได้มีการสอนงานและจัดอบรมให้กับพนักงานนำจ่ายไปรษณีย์อย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบว่ามีเรื่องร้องเรียนในการนำจ่ายที่ไม่ได้มาตรฐานจะตรวจสอบทันที เพราะการนำจ่ายจดหมาย พัสดุ ถือเป็นหัวใจและภาพลักษณ์ของไปรษณีย์ไทย ทั้งนี้ การที่พื้นที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่กว้าง การพักอาศัยของคนแต่ละตำบล แต่ละอำเภออยู่ห่างไกลที่ทำการไปรษณีย์ เพราะปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทยมีที่ทำการรองรับประมาณ 1,300 แห่งทั่วประเทศ โดยหากจะลงทุนเพิ่มสาขาจะต้องใช้งบประมาณที่สูงพอสมควร ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงต้องมีการคัดเลือกไปรษณีย์อนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวกในพื้นที่นั้น ๆ ที่ปัจจุบันมีประมาณ 5,000 คน “ส่วนมากปัญหาของคนต่างจังหวัดในการรับส่งสินค้าจากไปรษณีย์อนุญาตไม่ค่อยเกิด เพราะระดับตำบล ระดับหมู่บ้านจะรู้จักและมีความสนิทสนมและเข้าใจกันดี” สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งการส่งสิ่งของล่าช้า เกิดการชำรุดเสียหายต่าง ๆ นั้น จะเกิดจากพนักงานนำส่งของไปรษณีย์เอง โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ทั้งนี้ เนื่องจากพนักงานกลุ่มดังกล่าว ทำสัญญาการรับจ้างชั่วคราว มีการรับงานและลาออกอย่างบ่อยครั้ง ซึ่งไปรษณีย์ไทยจะใช้วิธีการประเมินผลผลงาน เพื่อนำไปสู่การปรับขึ้นของค่าตอบแทน เพื่อให้พนักงานมีความกระตือรือร้นและทำงานอย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันยอดการร้องเรียนถึงความบกพร่องของการนำจ่ายน้อยมาก แต่กลับมักพบบนโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงอยากให้ผู้เสียหายร้องเรียนมายัง www.thailandpost.co.th โดยตรง สิ่งที่ต้องทำคือเน้นบุคลากรที่มีคุณภาพ ยอมรับว่าการส่งของไม่ได้ 100% หัวใจหลักคือบุคลากรต้องให้ความสำคัญกับของที่จะส่ง. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไปรษณีย์ไทย ย้ำส่งของถือเป็นหัวใจหลัก

Posts related