เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับว่าตอนนี้สมาร์ทโฟนและระบบปฏิบัติการสมัยใหม่บนโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงแค่บทบาทในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่รวมไปถึงบทบาทในแวดวงธุรกิจด้วย คุณผู้อ่านเคยนึกสงสัยไหมครับว่าแอพพลิเคชั่นนับร้อยนับพันที่เปิดให้เราดาวน์โหลดกันฟรี ๆ ในแอพสโตร์หรือเพลย์สโตร์นั้น ทางผู้ผลิตเขาทำไปแล้วได้อะไร แอพฟรีเหล่านั้นมันสามารถทำรายได้ให้กับบริษัทผู้ผลิตยังไง จนถึงขนาดที่ว่าบริษัทนั้นสามารถมาเปิดบริษัทหรือสาขาในต่างประเทศได้  พูดมาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลาย ๆ คนคงจะนึกภาพของแอพพลิเคชั่นรับส่งข้อความอย่าง ไลน์ (LINE) ขึ้นมาเลยใช่ไหมครับ ก็แอพพลิเคชั่นฟรีนี้ไม่แค่ส่งข้อความได้ โทรฯผ่านวิดีโอคอลได้ ยังมีลักษณะเด่นเป็นสติกเกอร์น่ารักที่ให้โหลดได้ทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน ซึ่งนอกจากความสามารถที่หลากหลายแล้ว ยังมีแอพพลิเคชั่นเสริมในเครืออย่างไลน์คุกกี้รัน (Cookie Run) ไลน์คาเมร่า (LINE Camera) ตลอดจนเกมอื่น ๆ ซึ่งต่างก็ให้โหลดกันได้ฟรีทั้งนั้นอีก คำถามก็คือว่า LINE Corporation ที่เป็นผู้ผลิตนั้นเขาเอารายได้มาจากไหนกัน ถึงขนาดว่าสามารถมาเปิดสาขาในประเทศไทยได้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ รายได้หลักของไลน์นั้นจริง ๆ แล้วมาจากการขายไอเทมในเกมครับ โดยมีพฤติกรรมของผู้เล่นที่ชอบแข่งขันกันเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนเพื่อนให้มาเล่นเกมแข่งกัน การขอชีวิตจากเพื่อนเพื่อจะได้สิทธิในการเล่นเกมต่อในลักษณะส่งกันไปมา และที่สำคัญคือการจัดอันดับในกลุ่มเพื่อนที่เล่นเกมนี้ด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้กลุ่มใหญ่เกิดอาการเสพติดและอยากแข่งขันให้ตัวเองชนะเป็นที่หนึ่งให้ได้ถึงขนาดที่ยอมเสียเงินเพื่อซื้อไอเทมต่าง ๆ มาช่วยเสริมกันเลย ซึ่งทั้งสติกเกอร์และไอเทมเสริมนั้น ปกติจะขายอยู่ในราคาชุดละประมาณ 0.99 USD หรือประมาณ 32 บาทเท่านั้นเอง ราคาแค่นี้ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่ามันจะเป็นรายได้สำคัญของบริษัทไปได้ แต่อย่างที่คนสมัยก่อนพูดสอนกันมาล่ะครับว่าอย่าดูถูกเงินน้อย เพราะแม้ราคาของแต่ละชิ้นจะน้อยนิด แต่จากยอดผู้ใช้กว่า 420 ล้านคนในปัจจุบัน พอรวมออกมาแล้วมันก็เป็นรายได้จำนวนมหาศาลให้กับทางบริษัทไลน์ได้ล่ะครับ โดยล่าสุดทาง LINE ได้เปิดเผยข้อมูลว่า โปรแกรมไลน์มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 14% จากไตรมาสก่อน และถ้าเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวนผู้ใช้ไลน์ก็เพิ่มขึ้นถึง 223% เลยทีเดียวครับ ตัวเลขที่น่าทึ่งกว่านั้นคือประเทศที่ใช้ไลน์เป็นอันดับสองในโลกก็คือ ประเทศไทยของเรานี่เอง โดยมียอดผู้ใช้ประมาณ 24 ล้านคนเป็นรองแค่ประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นเอง ข่าวดีสำหรับผู้ใช้อย่างพวกเรา คือ ปัจจุบันนี้ไลน์ไม่ได้ผูกขาดเป็นผู้ขายสติกเกอร์เพียงรายเดียวแล้วนะครับ ผู้ใช้อย่างเรา ๆ ก็สามารถเปิดขายสติกเกอร์ของตัวเองในไลน์ได้ โดยไปลงทะเบียนที่ LINE Creators Market และเมื่อทางไลน์ตอบรับมา คราวนี้เราก็สามารถนำสติกเกอร์ที่เราออกแบบเองเข้ามาขายใน LINE Web Store ได้แล้ว โดยการออกแบบสติกเกอร์นั้น จะต้องมีจำนวนประมาณ 40 ภาพต่อชุด และราคาขายเริ่มต้นจะอยู่ที่ 0.99 USD ซึ่งค่าตอบแทนที่เราจะได้จากการขายคือ 50% ครับ ปัจจุบันประเทศที่สามารถลงขายสติกเกอร์ในลักษณะนี้ได้มีด้วยกัน 4 ประเทศเท่านั้น คือ ไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน แม้จะดูเป็นช่องทางเล็ก ๆ สำหรับนักออกแบบและผู้ใช้ไลน์ในไทย แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจนะครับที่เกิดขึ้นมาจากไลน์ กลายเป็นอีกหนึ่งเวทีสำหรับให้นักออกแบบของไทยทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นได้ลงมาแสดงความสามารถและทำรายได้ให้กับตนเองไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสำหรับผมมองว่ามันเป็นกลไกการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างบริษัท LINE Corporation และผู้ใช้ที่มีความต้องการในการเปิดขายสติกเกอร์ของตัวเองครับ ฝั่งผู้ใช้ก็ได้เงินและได้เวทีแสดงฝีมือที่เข้าถึงได้ไม่ยาก ฝั่งบริษัทไลน์เองก็อาจได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำจากช่องทางสติกเกอร์ที่ออกแบบโดยผู้ใช้นี้ก็เป็นได้ การเติบโตของ LINE Corporation นี้น่าสนใจครับ เพราะบริษัทนี้เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียงสิบปีเศษเท่านั้น แต่กลับสามารถทำเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ที่ผมเคยพูดถึงบ่อย ๆ ว่ายุคนี้สมัยนี้แล้ว เราสามารถสร้างเม็ดเงินจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ เป็นการสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของคนโดยแท้ ไม่ได้มาจากการได้สัมปทาน การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด เศรษฐกิจสร้างสรรค์นี้ ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร เชื้อชาติอะไร สีผิวใด ตราบเท่าที่สามารถเข้าถึงโอกาส องค์ความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ ผสมผสานบูรณาการเข้ากับจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ได้ นี่ล่ะครับคือโลกยุคศตวรรษที่  21 อย่างแท้จริง แม้การที่ต้องวิ่งตามเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอยู่ตลอดเวลานั้นบางครั้งมันอาจจะเหนื่อยและบางทีก็ยากไม่น้อย แต่ผลของการเรียนรู้นั้นผมเชื่อว่ามันคุ้มค่าแน่นอนครับในยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่เคยจะหยุดนิ่งแม้สักวินาทีเดียว. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับ LINE – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related