หากจะให้นึกถึงไปรษณีย์ไทย เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพบุรุษไปรษณีย์ ตู้รับส่งจดหมาย แต่ในมุมมองของนักสะสมแสตมป์ ในแต่ละปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะออกตราไปรษณียากร ในโอกาสต่าง ๆ มากมาย ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำคัญในประเทศไทย และล่าสุด ไปรษณีย์ไทย ได้ออกแสตมป์ชุดสุดท้าย เพื่อส่งท้ายปี 56 ถือเป็นแสตมป์สุดไฮเทคแห่งปีในชุดดิจิทัลทีวี เป็นภาพมาสคอต “น้องดูดี” ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)   โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง AR (Augmented Reality) ทำให้แสตมป์จำนวนทั้ง 700,000 ดวงของชุดนี้ รวมถึงภาพแสตมป์ไม่ว่าปรากฏบนสื่อใด ล้วนสามารถนำเสนอภาพยนตร์โฆษณา “ดิจิทัลทีวีดีอย่างไร?” ความยาว  1 นาที แบ่งเป็นหนังโฆษณา 4 ชุด นายวิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ผู้ใช้งานสามารถสแกนภาพจากแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนตัวใหม่ที่ชื่อว่า StampAlive โหลดฟรีได้ทั้งระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์ “แอพดังกล่าวนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของตราไปรษณียากรไทยที่จะกลายเป็น “สื่อใหม่” นำเสนอเรื่องราวในลักษณะมัลติมีเดียบนดวงแสตมป์ได้อย่างมีชีวิตชีวา และเชื่อมโยงถึงแหล่งข้อมูลเช่น เว็บไซต์ และเฟซบุ๊กดิจิทัลทีวี ของ กสทช.ได้โดยตรง ตลอดจนแชร์ข้อมูลแสตมป์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ด้วย” ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ได้ใช้วันที่ 11 ธ.ค. 56 (11-12-13) ถือเป็นฤกษ์ดีในการจำหน่ายแสตมป์ชุดดังกล่าวราคาดวงละ 3 บาท เต็มแผ่น (20 ดวง) 60 บาท และซองวันแรกจำหน่าย 10 บาท โดยการใช้งานเมื่อมีการดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่นแล้ว ทางขวามือจะมีวิธีการใช้งานเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีเมนูในส่วนของ อี-คอมเมิร์ซ ของไปรษณีย์เกี่ยวกับแสตมป์ต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์เปิดขายและสามารถสั่งจองและซื้อขายได้ทันที อีกทั้งยังมีลิงค์ไปยัง เฟซบุ๊กแสตมป์ทั้งหมดของไปรษณีย์ด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่ไปรษณีย์ไทย ใช้เทคโนโลยี AR มาช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับ กสทช.โดยโฆษณานี้จะตามไปทุกที่ที่มีการใช้งานแสตมป์ ใช้งานได้ทุกภาพตีพิมพ์ไม่เว้นแม้แต่ภาพขาว ดำ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แต่ภาพแสตมป์ดังกล่าวจะต้องมีความสมบูรณ์ 70% สำหรับเหตุผลที่ทำแสตมป์ทีวีดิจิทัลนั้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล จึงอยากให้แสตมป์ชุดนี้ได้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยังเป็นแสตมป์ชุดส่งท้ายปี 56 และเป็นปีแห่งการครบรอบ 130 ปี แสตมป์ไทยด้วย “หวังว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้ประโยชน์ต่อผู้รับ ได้รับข้อมูลของแสตมป์ทั้งหมด นักออกแบบพยายามออกแบบให้เห็นถึงการมีชีวิตชีวาเสมือนดูทีวีผ่านมือถือ เราคิดว่าในอาเซียนเราจะเป็นรายแรก แต่อินโดนีเซียทำออกมาเมื่อช่วงต้นปี แต่เป็นในลักษณะของการโปรโมตให้การท่องเที่ยวในประเทศ” นายวิบูลย์ มองว่า เทคโนโลยี AR เหมาะสำหรับทำโฆษณาที่มีชีวิตชีวา เนื่อง จากยุคนี้สามารถใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลากับมือถือ ถือเป็นช่องทางไปสู่นิวส์มีเดียออนแสตมป์ โดยอนาคตจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับเล่นเกม เพื่อให้เด็ก ๆ เล่นเกมได้บนแสตมป์ของไปรษณีย์ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทย ผลิตแสตมป์ออกมาจำนวน 3,300 แบบ 1,015 ชุด มากกว่า 3,000 ล้านดวง โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ของรายได้รวมทั้งหมด ถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของไปรษณีย์ไทยที่ยืนยาวมากว่า 100 ปี ยอมรับว่า ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การส่งสิ่งของไม่จำเป็นต้องมีแสตมป์ก็สามารถส่งสิ่งของผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ไปรษณีย์ไทยจะต้องทำให้แสตมป์เป็นสัญลักษณ์ของไปรษณีย์ ถึงแม้ว่ายอดนักสะสมแสตมป์ปัจจุบันอยู่ที่ 3-4 หมื่นคน จาก 10 ปี ที่ผ่านมา มี 7-8 หมื่นคน สิ่งที่ไปรษณีย์ต้องทำคือ ทำให้แสตมป์เป็นแหล่งการเรียนรู้ สร้างเรื่องราวผ่านดวงแสตมป์ เพื่อ ไม่ให้สูญหาย. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แสตมป์น้องดูดี สื่อมีเดียรูปแบบใหม่ของปณท.

Posts related