ปัจจุบันผู้ใช้อุปกรณ์พกพาในประเทศไทย มักให้ความสำคัญต่อการรับข้อมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งการรับ ส่ง แชร์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยคนส่วนมากใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อการโทรน้อยลง ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ จากบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษาจำกัด เล่าว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ข้อมูลออนไลน์ผู้มีสมาร์ท ดีไวซ์มากกว่า 1 เครื่องขึ้นไป มีถึง 67% แล้วทั้งนี้มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคเกื้อหนุน 3 ส่วนด้วยกันประกอบด้วย 1. ดีไวซ์ หรืออุปกรณ์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเกิดดิจิทัลโซเชียลมีเดีย โดยปัจจุบัน ความสามารถของฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น มีการพัฒนาหน้าจอ กล้องถ่ายรูป ความสวยงามของตัวเครื่อง และคุณสมบัติการใช้งาน เพราะผู้บริโภคเอาสมาร์ทดีไวซ์มาเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งให้กับตัวเอง 2. โครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรัคเจอร์ ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ถ้ามีอุปกรณ์แต่ไม่มีโครงสร้างเพื่อรองรับการใช้งาน ก็ไม่เกิดประโยชน์ ปัจจุบันเทรนด์การใช้งานของประเทศไทยที่มีการเติบโตเนื่องจากการมี 3จี ก่อนหน้านี้อาจช้า เพราะดีไวซ์ที่เป็นตลาดไม่มีการขับเคลื่อนตลาดที่แท้จริง   ตอนนี้ 3จี พร้อมถือเป็นการเอื้ออำนวยพฤติกรรมการใช้งานเปลี่ยนแปลงมากขึ้น“ยิ่งมีการบริการที่ดี มีอุปกรณ์รองรับ ลักษณะการใช้งานเอื้อต่อการแชร์โซเชียลเน็ตเวิร์กตลอดเวลา และเทรนด์ปัจจุบันดีไวซ์มีกล้องถ่ายรูปที่มีคุณภาพ มีโหมดแชร์ เข้าสู่การเป็นมัลติแพลตฟอร์มทันที” 3. คอนซูเมอร์ หรือผู้ใช้ เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดหลายอย่าง มีอิทธิพลต่ออุตสาห กรรมไอทีมากขึ้น อย่างปัจจุบันผู้ใช้จะมีสมาร์ทดีไวซ์ หรืออุปกรณ์มากกว่า 1 เครื่องขึ้นไป จำนวน 67% มีพฤติกรรมชอบเล่นเฟซบุ๊ก โซเชียล มีเดีย โดยผลการศึกษาระบุว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนให้ความสำคัญกับการเล่นเฟซบุ๊กมากกว่าการโทรเข้าโทรออก โดยผู้ใช้ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 3 โดยมองโซเชียล มีเดียเป็นอันดับแรก อันดับ 2 การใช้ข้อความ (ตัวหนังสือ) ดร.มนธ์สินี เล่าว่า ปัจจุบันนิยมนำอุปกรณ์พกพาส่วนตัวมาทำงาน ด้วยเทรนด์บริษัทหลาย ๆ บริษัทยอมให้พนักงานใช้อุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ในที่ทำงาน และ 66% ใช้งานผ่านคลาวด์ โดยเฉพาะการใช้เก็บข้อมูล ไฟล์ภาพที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น “ทั้ง 3 ตัว จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมไอที หากขาดตัวใดตัวหนึ่งจะทำให้การเติบโตไม่สมบูรณ์ จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศด้วย บางประเทศอินฟราสตรัคเจอร์มาก่อน แต่ประเทศ ไทยมีระบบสัมปทาน ทำให้ดีไวซ์เกิดขึ้นก่อนและคนไทยรอมานานแล้ว” สำหรับนโยบายสมาร์ทซิตี้ของกระทรวงเทคโนโลยีสาร สนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนไอซีทีและเศรษฐกิจประเทศที่ดี แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนรอการอนุมัติ โดยภาพรวมแล้ว หากเกิดการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (เออีซี) และเมื่อประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลาง จะทำให้นักลงทุนนอกเครือข่ายมีความมั่นใจ สร้างความน่าเชื่อถือ และใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการลงทุน นอกจากสมาร์ทซิตี้ จะเป็นศูนย์กลางในไทยแล้ว ยังช่วยยกระดับอาเซียนด้วย เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ ความเชื่อมโยงมุ่งสู่มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้ หากมีความเชื่อมโยงเหมือนกันและเมื่ออินฟราสตรัคเจอร์ไทยพร้อม ทุกประเทศจะมั่นใจในการลงทุน ทั้งนี้ ในโครงการที่ต้องอนุมัติจากรัฐบาลในส่วนของการลงทุนไอทีนั้น หากเทียบการลงทุนแต่ละปี ภาครัฐลงทุนน้อยมาก เพราะจริง ๆ แล้วเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเห็นว่าการเมืองในประเทศไทยไม่นิ่งมาหลายปีแล้ว แต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไอทีหนุนเศรษฐกิจไทย ในภาวะการเมืองร้อน!

Posts related