หลังจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดตันละ 15,000 บาท สร้างความชื่นชอบให้ชาวนา จนทำให้ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กลายเป็นฮีโร่ทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างกลับตาลปัตรเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคำสรรเสริญเยินยอ มาเป็นคำด่าทอและขับไล่รัฐบาลแทน เพราะรัฐบาลเวลานี้กำลังหมดท่า…ไม่มีเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนาได้ จนหลายฝ่ายกำลังนั่งนับเวลาถอยหลังว่าสุดท้ายแล้ว รัฐบาลรักษาการจะถูกนโยบายหาเสียงรัดคอตายแทนถูกฝ่ายตรงข้ามถล่ม! ต้องยอมรับว่ากว่า 3 เดือนกับเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีลาออก! ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อาจไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะถูกโครงการรับจำนำข้าวมาเป็นตัวบั่นทอนแทน หลังจากที่ชาวนาในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาลได้รวมกลุ่มลุกฮือขับไล่รัฐบาล รวมไปถึงการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้เริ่มกระบวนการไต่สวน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้แจ้งข้อกล่าวหาทุจริตแก่อดีต รมต. และข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับจำนำ รอวันนับถอยหลัง ทุกวันนี้สังคมเริ่มเห็นความเน่าเฟะของโครงการรับจำนำข้าว ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องของการทุจริต เรื่องของการทำลายระบบข้าวของประเทศ เรื่องของการสูญเสียการเป็นแชมป์ในการส่งออกข้าวของโลกจนมาอยู่อันดับที่ 3  หรือแม้แต่เรื่องของ “ข้าวหาย” ที่ล่องหนเป็นแรมเดือนเป็นแรมปีต่อหน้าต่อตา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อยิ่งตรวจสต๊อกข้าวในโกดังต่าง ๆ ก็พบว่าทยอยหายเป็นรายวัน ขณะที่งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ใช้ไปกับโครงการรับจำนำข้าว เพราะตั้งแต่ปี 54-56 รัฐใช้เงินในการซื้อข้าวจากชาวนากว่า 700,000 ล้านบาท แต่ขายกลับมาได้ไม่ถึง 200,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเรื่องของการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่รัฐบาลมักอ้างอยู่เสมอจึงเป็นที่มาของการค้างหนี้ชาวนานับแสนล้านบาท หากรัฐบาลรักษาการ…ยังเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว โดยไม่มีการทบทวนผลที่ตามมา คือ รัฐบาลจะหาเงินจากที่ใดมาจ่ายให้กับชาวนา…นอกเสียจากการ ’กู้และกู้“ เท่านั้น  เหตุผลง่าย ๆ ที่รัฐบาลนำเงินมาจากการขายข้าวได้น้อยเหลือเกิน เพราะราคารับซื้อข้าวที่สูงกว่าตลาดโลก 20-30% ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างอินเดียและเวียดนาม กลับขายในราคาที่ถูกกว่า ที่สำคัญรสชาติและคุณภาพข้าวของเพื่อนบ้านไม่ได้แตกต่างจาก “ข้าวไทย” สุดท้าย! ข้าวไทยที่ค้างอยู่ในโกดังจึงมีอยู่จำนวนไม่น้อย จนมีกระแสข่าวเรื่องของข้าวเน่า ข้าวล่องหน เวียนเทียนข้าว การลักลอบนำข้าวราคาถูกจากเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิขาย เป็นต้น  แต่ไม่ว่าโครงการรับจำนำข้าว จะจบลงอย่างไร? แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ วงการข้าวไทย ฐานะการคลังไทย ความศรัทธาที่มีต่อรัฐบาล กำลังลดน้อยถอยลง  ขณะที่ชาวนาไทยจำนวนไม่น้อยต้องรับกรรม! ไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะในส่วนของชาวนาที่เป็นชาวนาอย่างแท้จริง ที่ต้องยอมรับว่ามีฐานะความเป็นอยู่ที่ลำบากต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำนามาหาเลี้ยงชีพ หากไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลมาลงทุนต่อ มาเลี้ยงชีพ มาดูแลครอบครัว ก็ต้องหันไปพึ่งพิงหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 3-5% ต่อเดือนหรือ 40-50% ต่อปี ทำให้หลายรายต้องเป็นหนี้นอกระบบ เพราะต้องเร่งนำเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าหญ้า ค่าเช่านา และค่าใช้จ่ายในครอบครัว แห่เตือนรัฐบาลก่อนเจ๊ง ทั้งนี้ก่อนจะเกิดความวุ่นวายจากปัญหารับจำนำข้าว บรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ สื่อมวลชน องค์กรด้านการตรวจสอบ องค์กรด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่คนของรัฐบาลเองต่างออกมาเตือนถึงความหายนะ ที่จะตามมาในอนาคต หากนายกฯ ยิ่งลักษณ์  ยังเดินหน้ารับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดโลกมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย” หรือทีดีอาร์ไอ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่แรก เพราะเป็นโครงการที่จะนำความหายนะมาสู่รัฐบาลเอง จึงออกมาจี้รัฐบาลแทบทุกวันให้ยกเลิกโครงการ เพราะเพียงแค่  3 ฤดูกาลคือ ข้าวนาปี 54/55, นาปรัง 56 และ นาปี 55/56 ที่มีการรับจำนำข้าวเปลือกรวม 36.49 ล้านตัน หากรัฐบาลสามารถระบายข้าวได้หมดภายใน 4 ปีในช่วงวาระการบริหารงานของรัฐบาล คาดว่าจะมีการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท เพราะสภาพข้าวเสื่อมลงทำให้ราคาตกต่ำ รวมถึงมีค่าบริหารจัดการและค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น หรือแม้แต่บรรดาสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ได้ทยอยเรียงหน้าออกมาตักเตือน รวมไปถึง “ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร” ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกฯ เองแท้ ๆ ที่ย้ำว่าหากรัฐบาลจะพังก็พังเพราะเรื่องนี้…เพราะมันเป็นโครงการที่ควบคุมคอร์รัปชั่นไม่ได้ ต่อให้มาจากไหนก็ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าจะถอยก็ต้องยกเลิกไปเลย ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อหยุดความเสียหายไม่ให้มากไปกว่านี้ โดยขอให้ปรับวิธีช่วยเหลือชาวนาจากโครงการรับจำนำราคา 15,000 บาทต่อตัน เป็นการช่วยเหลือในลักษณะที่ไม่ได้ไปดึงข้าวเข้ามาอยู่ในมือของรัฐ แต่ควรให้มีการค้าขายข้าวผ่านระบบการค้าเอกชน หรือการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างจากราคาตลาดโดยตรงแก่ชาวนา  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มองว่า โครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และได้คัดค้านมาตั้งแต่ต้นเพราะคาดการณ์ไว้ถึงผลสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะนอกจากได้สร้างความเสียหายต่องบประมาณปีละกว่า 200,000 ล้านบาท แต่กลับมีผู้อื่นที่ไม่ใช่ชาวนาได้ประโยชน์ไปด้วยไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถสกัดการหาผลประโยชน์ หรือคอร์รัปชั่นจากโครงการจำนำได้เลย  ต่างชาติวิพากษ์เช่นกัน อย่าว่าแต่คนในประเทศหรือองค์กรในประเทศเท่านั้น แม้แต่สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง ยังเขียนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า นโยบายจำนำข้าวล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะการจำนำข้าวทำให้รัฐบาลไทยขายข้าวได้ยาก เนื่องจากราคาจำนำข้าวที่มีมูลค่าสูงกว่าตลาดโลก จนส่งออกยาก…สุดท้ายข้าวในสต๊อกล้น  เช่นเดียวกับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ที่เรียกร้องรัฐบาลไทย ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประชานิยมบางอย่าง เพื่อความสมดุลทางงบประมาณและจำกัดตัวเลขหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น  รวมไปถึงสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ที่เตรียมปรับลดเครดิตของไทย เพราะเล็งเห็นแล้วว่า  โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลอาจทำให้ประเทศขาดทุนมหาศาล ทำให้รัฐบาลประสบความยากลำบากมากขึ้นในการจัดวางงบประมาณให้สมดุล และเป็นปัจจัยลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย สุดท้ายรัฐบาลทั้งนายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายก็ออกมาตอบโต้ข้อเสนอจากทุกฝ่าย อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน และที่สำคัญยังเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง โดยอ้างว่าชาวนาได้รับประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเป็นโครงการที่ทำให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้น รัฐอยู่ในสภาพถังแตก เมื่อรัฐบาลยังเดินหน้าฝ่ากระแสการคัดค้านและการตักเตือนจากหน่วยงานจากทั่วโลก ดังนั้นผลที่ตามมา เพียงแค่ 2 ปีเศษจึงเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย จนมีหลายคนเริ่มสงสัยว่าจุดจบของโครงการและจุดจบของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรต่อไป สภาพแรกที่เห็นก็คือรัฐบาลตกอยู่ในอาการ “ถังแตก” เพราะหลังจากที่มีการยุบสภาไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 56 จนไม่สามารถจ่ายหนี้ให้ชาวนานับแสนนับล้านราย หรือคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท จนมีชาวนา ลุกฮือผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดจากทุกสารทิศทั่วประเทศเพื่อมาทวงเงิน บางกลุ่มต้องไปปิดถนน และมีบางกลุ่มบุกยึดกระทรวงพาณิชย์  ขณะที่บางกลุ่มต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงความเดือดร้อน และบางกลุ่มถือโอกาสเข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. ในการยกระดับขับไล่รัฐบาล ธนาคารเมินปล่อยกู้ ในเมื่อไม่สามารถหาเงินจ่ายให้ชาวนาได้ทันทำให้รัฐบาลต้องวิ่งเต้นในการหาเงินให้เร็วที่สุด ทั้งการขายข้าวแต่วิธีนี้คงได้เงินไม่ทันใจ เพราะได้เงินไม่มากและกว่าจะได้ต้องใช้เวลานาน ที่สำคัญการขายข้าวแบบจีทูจีก็ยังดูทุลักทุเล เนื่องจากหลายจีทูจีส่วนหนึ่งถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือของเก๊ รวมถึงกรณีล่าสุดที่บริษัท เป่ยต้าฮวง ประเทศจีน ได้ยกเลิกสัญญาการสั่งซื้อข้าว 1.2 ล้านตันแบบสด ๆ ร้อน ๆ ดังนั้นแนวทางที่หาเงินได้เร็วคงหนีไม่พ้นเรื่องของการกู้ เริ่มตั้งแต่การขอกู้ต่อ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) ออมสิน กรุงไทย และธนาคารพาณิชย์อื่น แต่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เตือน รมว.คลังว่ารัฐบาลรักษาการไปกู้เงินอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ จึงเสนอให้ รมว.คลังพิจารณาทบทวน แต่ไม่สามารถยับยั้งการเดินหน้าการกู้ของรัฐบาลได้ สุดท้าย…สถานการณ์ก็ใกล้เข้ามาถึงทางตันทุกที เพราะสถาบันการเงิน ต่างเมินปล่อยกู้จากเดิมที่รัฐบาลวางแผนการกู้เงินของรัฐบาล สัปดาห์ละ 20,000 ล้านบาทจนครบ  130,000 ล้านบาท โดยเปิดประมูลเงินกู้ทุกวันพฤหัสบดี และรับเงินกู้ในวันอังคารซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะแต่ละสถาบันการเงินไม่มั่นใจว่าหากปล่อยไปแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่ ที่สำคัญก็สุ่มเสี่ยงกับการถูกล้อมปิดของกลุ่ม กปปส. ด้วย เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่สร้างผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก และเกิดการทุจริตหากปล่อยกู้มีความเสี่ยงทันที และที่สำคัญหลายธนาคารมีสภาพคล่องแรงงานเข้าประท้วงผู้บริหารเพื่อให้ปกป้องผลประโยชน์ ท้ายที่สุดเมื่อไม่ได้เงินจากสถาบันการเงิน กระทรวงพาณิชย์ก็ดั้นด้นไปขอความช่วยเหลือจากบรรดาเถ้าแก่โรงสีให้หันมาปล่อยกู้ให้กับชาวนาไปก่อน เรียกได้ว่า งานนี้ขอแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปก่อนก็แล้วกัน และก็หนีไม่พ้นหันมาใช้เงินภาษีจากผู้เสียภาษีอีก โดย “ยรรยง พวงราช” รักษาการ รมช.พาณิชย์ จะเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.พิจารณาเห็นชอบให้รัฐบาลรักษาการนำเงินจากงบประมาณปี 57 จากงบกลางมาชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าวในอัตรา 9% เพื่อเป็นแรงจูงใจ เพื่อรักษาหน้าของตัวเองไปก่อน เรียกว่าสารพัดสารเพที่จะพยายามหาเงินมาจ่ายหนี้ให้กับชาวนา แถมล่าสุด…ยังมีข่าวแว่วมาจากกระทรวงการคลังเข้าให้อีกว่า หากไม่มีหนทางอื่น กระทรวงการคลังอาจไปใช้เงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข. ก็ได้ เพื่อเข้ามาช่วยเสริมอีกทางหนึ่ง โดยงานนี้กระทรวงการคลังบอกว่า ในเมื่อการเปิดประมูลเงินกู้เพื่อหาเงินมาให้ ธ.ก.ส.กู้ไม่สำเร็จก็ต้องเร่งหาแหล่งเงินกู้ใหม่ เพื่อนำมาจ่ายหนี้คืนให้แก่ชาวนา “เมื่อช่องทางแบงก์รัฐและเอกชนกู้ไม่ได้ ขณะนี้มีช่องทางแหล่งเงินที่เหลืออยู่ ก็คือ ช่องทางการออกพันธบัตรโดยให้หน่วยงานรัฐเข้ามาลงทุน” คนในกระทรวงการคลังออกมาตีข่าวอีกรอบ งานนี้….ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ถือเป็นแหล่งเงินสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เงินกองทุนของกองทุนประกันสังคม และ กบข. ซึ่งสามารถเข้ามาลงทุนได้เลย โดยเฉพาะส่วนของ กบข. ยังมีช่องทางการลงทุนได้ เนื่องจากเกณฑ์การลงทุนของ กบข. แบ่งการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ 40% ส่วนอีก 60% นั้นกำหนดให้ลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง เช่น พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม  ในส่วนสินทรัพย์มั่นคงนี้ สามารถลงทุนได้ถึง 100% แต่ทั้งหลายทั้งปวงยังเป็นเพียงแค่แนวทาง เป็นเพียงแค่แนวความคิดเท่านั้น ยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน ซึ่งคงต้องรอคนสำคัญอย่าง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่าจะหาทางออกในรูปแบบใด เรื่องราวของโครงการรับจำนำข้าว ในเวลานี้จึงกลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่ทำให้รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังเดินทางเข้าสู่ทางตัน!. มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : มหากาพย์…รับจำนำข้าวนับเวลาถอยหลัง‘ยิ่งลักษณ์’

Posts related