“ซีเอสอาร์”เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย และได้ยินกันบ่อยครั้ง เพราะกลายเป็นกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ทางสังคม ของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ตามหน้าสื่อทุกแขนง เชื่อว่า…คงมีไม่กี่คนที่จะรู้ว่า ซีเอสอาร์ที่แท้จริง เป็นมากกว่าการสร้างภาพลักษณ์บริษัท หรือเพียงแค่การนำเงินไปบริจาคเท่านั้น แต่ซีเอสอาร์ ยังมีความสำคัญอย่างมากในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมไปถึงการทำธุรกิจในเวทีโลก เพราะถ้าบริษัทใดไม่มีเรื่องของซีเอสอาร์เข้ามาเกี่ยวข้องอาจถูกปิดประตูทางการค้าทันทีก็เป็นได้ ในทางกลับกันหากบริษัทใด มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนถูกต้อง ประตูการค้าจะเปิดอ้ารับทันที.. เช่นกัน “ทุกวันนี้หลายคนยังเข้าใจความหมายของซีเอสอาร์ ผิด คิดเพียงว่า แค่นำเงิน หรือบริจาคสิ่งของอย่างเดียว ก็ถือเป็นซีเอสอาร์แล้ว ซึ่งการกระทำนี้ เป็นแค่หลังกระบวนการเท่านั้น เลยทำให้มองเป็นภาระค่าใช้จ่าย แต่ซีเอสอาร์ ที่แท้จริงแล้ว ต้องมีการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม พนักงาน ลูกค้า ให้เกิดตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ และผู้นำก็ควรสร้างดีเอ็นเอให้พนักงานทุกคน มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกต้อง ก็จะช่วยลดต้นทุน และทำให้ธุรกิจโตได้อย่างยั่งยืน”…รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ประธานซีเอสอาร์ พอเพียง และผู้อำนวยการ หลักสูตร ซีอีโอ เอ็มบีเอ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวไว้ในรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทางช่องเดลินิวส์ ทีวี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา “รศ.ทองทิพภา” อธิบายให้ฟังว่า ปัจจุบันจะมีเพียงธุรกิจใหญ่ ๆ เท่านั้นที่ทำซีเอสอาร์อย่างจริงจัง ขณะที่รายเล็กรายย่อย ยังไม่เข้าใจซีเอสอาร์อย่างแท้จริง คิดเพียงแค่การบริจาคสิ่งของ หรือเงิน และยังเป็นหน้าที่ของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่ การทำลักษณะนั้น เป็นแค่หลังกระบวนการดำเนินธุรกิจ หรือถ้าธุรกิจขนาดใหญ่ รายใด บริจาคเงินแต่ไม่พัฒนาองค์กรของตัวเอง ไม่ดูแลพนักงานให้ดี ถือได้ว่าเป็นการทำซีเอสอาร์เทียม เท่านั้น สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี การทำซีเอสอาร์ถือว่าไม่ยากเลย แม้เป็นเพียงร้านขายก๋วยเตี๋ยวก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแค่นำผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพมาให้บริการลูกค้า ดูแลลูกจ้างในร้านให้ดี มีสวัสดิการที่เหมาะสม แยกทิ้งของเสีย ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เพียงแค่นี้ถือว่าทำซีเอสอาร์แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่หลายคนอาจไม่รู้ และการทำซีเอสอาร์นี้ยังทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง เพราะเมื่อคุณภาพสินค้าดี ลูกค้าจะชื่นชอบ และถ้าดูแลลูกจ้างดี ลูกจ้างจะมีความสุขและมีแรงทำงานอย่างมีความสุขเช่นกัน ในแง่ของ “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” มีหน้าที่วิเคราะห์เจาะลึกข้อมูล การทำซีเอสอาร์ของแต่ละบริษัท โดยแบ่งเป็นลำดับขั้นที่ชัดเจนว่า บริษัทดำเนินการซีเอสอาร์ถูกต้องหรือไม่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กร และสังคม สิ่งแวดล้อมบทบาทของซีเอสอาร์ ในเวทีการค้าโลก หรือแม้กระทั่งการเปิดเออีซี ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะต่อไปหากเปิดเออีซีแล้ว จะยกเลิกภาษีเป็น 0 % เกือบทั้งหมด ไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะฉะนั้นมาตรการการกีดกันต่อไปไม่ใช่กฎหมายแล้ว จะนำเรื่องซีเอสอาร์ เข้ามากีดกันทางการค้าแทน เช่น กีดกันบริษัท ที่กดขี่แรงงาน หรือไม่ประหยัดทรัพยากร ไม่ได้ ที่สำคัญเวลานี้สหรัฐอเมริกา ได้นำมาตรฐานไอเอสโอ 2006 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านซีเอสอาร์มาใช้แล้ว โดยบางบริษัท จะตรวจสอบก่อนเลยว่า บริษัทคู่ค้ามีการทำซีเอสอาร์หรือไม่ ถ้าไม่มีจะไม่ดำเนินธุรกิจด้วย หรือในประเทศแถบยุโรป จะดำเนินธุรกิจ กับบริษัทข้ามชาติที่ทำซีเอสอาร์เท่านั้น เช่น กรณีของห้างหรู “แฮร์รอดส์” ได้เลือกซื้อสินค้ากระดาษสาของไทยจากเอสเอ็มอีรายหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีบ่อบำบัดน้ำเสียที่ถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่เป็นร้านเล็ก ๆ เท่านั้น หรือกรณีของการนำเอสเอ็มอีไปเจรจาจับคู่ทางธุรกิจหรือบิสสิเนส แมชชิ่ง ที่พม่า โดยก่อนวันเจรจาธุรกิจ ได้นำเอสเอ็มอีไปทำความรู้จักพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวพม่าก่อน เพราะเป็นเอสเอ็มอีที่มีงบประมาณไม่มากนัก จึงอาศัยความรู้ที่มีช่วยฝึกสอนนวดหน้า นวดตัว ทำแชมพู ให้กับชาวพม่า เพื่อเป็นการผูกมิตร ขณะที่ชาวพม่าเอง ได้สอนวิธีการทำแป้งทานาคาให้ ปรากฏว่าในวันเจรจาธุรกิจวันรุ่งขึ้นกลับกลายมาจับคู่กัน เลยสามารถปิดการขายระหว่างกันได้จำนวนมากและในปัจจุบันยังทำธุรกิจร่วมกันเป็นอย่างดี จนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งให้งบประมาณโครงการ ระบุในการจับคู่ทางธุรกิจของเอสเอ็มอี ให้นำซีเอสอาร์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไปใช้เป็นโมเดลในการเจรจาทุกครั้งด้วย เพราะเอกลักษณ์ของคนไทยที่เปี่ยมไปด้วยน้ำใจ ถือเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจสะดวก รศ.ทองทิพภา บอกด้วยว่า เวลานี้ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ตื่นตัวในเรื่องของซีเอสอาร์กันมาก ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คาดว่า จะประกาศใช้ได้ปีหน้า มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างวัฒนธรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าไทยไม่ทำ ก็จะตกขบวนการเพิ่มการแข่งขันทางการค้าได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทำ “ซีเอสอาร์” ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวแทบทั้งนั้น หากนำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง เชื่อว่าจะสามารถเป็นแรงดันให้การดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ซีเอสอาร์’ ในชาติเออีซี – เออีซี กับ ม.หอการค้าไทย

Posts related