จากหิมะตกครั้งแรกในรอบ 112 ปี ที่ดินแดนทะเลทรายอย่างอียิปต์ ประเทศ  เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็มีหิมะตกครั้งแรก ในรอบ 51 ปี รวมถึงประเทศไทยที่หนาวนี้ หนาวจัดและหนาวยาวนานกว่าทุกปี เกิดอะไรขึ้น…สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่… “ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า  อธิบายว่า  อากาศหนาวในช่วงนี้ ถือว่ายังอยู่ในลักษณะที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหากจะดูว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือไม่นั้นต้องใช้เวลามากกว่านี้ ทั้งนี้เรื่องของหิมะตกที่อียิปต์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยมีอากาศหนาวเย็น  อเมริกาเหนือหนาว คาดว่าเป็นผลของการแกว่งตัวของรอยต่อของมวลอากาศเย็นและอากาศอุ่นบริเวณขั้วโลก  ที่มีลักษณะการขยับตัวเป็นคลื่น เพราะทำให้แถวเอเชียใต้ อินเดีย ยุโรป อากาศปกติ  ไม่หนาว  ซึ่งเป็นการสลับมีทั้งหนาว และไม่หนาว ทั้งที่อยู่แนวละติจูดเดียวกัน  ดร.อานนท์ บอกว่า จากการสังเกตร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา  พบว่าการแกว่งตัวในลักษณะดังกล่าวมีบ่อยขึ้น ทำให้อุณหภูมิในช่วงเวลาเดียวกันมีความแตกต่างกันสูง  นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่า อากาศหนาวเย็นในปีนี้ มีลักษณะเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2554 ส่วนต้นปี 2555 และต้นปี 2556 ไม่เกิดขึ้น มาเกิดปลายปี  2556 จนถึงต้นปี 2557 อีกครั้ง หรือประมาณ 3 ปีเกิดขึ้นที  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และที่น่าจับตามองอีกอย่างหนึ่งคือ จำนวนพายุในทะเลในปีที่ผ่านมา ทั้งโซนร้อนและดีเปรสชัน ถือว่ามีจำนวนค่อนข้างมาก คือมีถึง 2 ลูก ซึ่งปกติ 5-6 ปี จะมีเพียง 1 ลูกเท่านั้น อย่างไรก็ดีทั้งเหตุการณ์หิมะตกที่อียิปต์ อากาศหนาวเย็นในไทย รวมถึงความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศในปีที่ผ่านมา  เช่น  ที่ทวีปแอนตาร์กติก ที่มีอุณหภูมิติดลบมาก ๆ ทั้งที่อยู่ในช่วงฤดูร้อนนั้น ดร.อานนท์ เชื่อว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกันผ่านมหาสมุทร โดยทำให้เห็นถึงความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทร ซึ่งหากไม่ใช่มหาสมุทรก็ไม่น่าจะมีองค์ประกอบใดในโลกนี้ ที่จะมีความร้อนอยู่ในตัวมากพอที่จะไปขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจาก น้ำสามารถสะสมความร้อนได้มากกว่าชั้นบรรยากาศหรือแผ่นดิน แค่น้ำปลดปล่อยความร้อนออกมาเพียง 0.01% จะมีความร้อนออกมาจำนวนมหาศาล   ทั้งนี้การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทำได้ยากและต้องอาศัยเวลา ซึ่งปัจจุบันจิสด้าได้มีความร่วมมือกับต่างประเทศในการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมมาใช้ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น  สำหรับปัญหาที่จะมาพร้อมกับความหนาวเย็น ดร.อานนท์ บอกว่า ที่มาแน่ ๆ ก็คือปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน  เนื่อง จากอากาศเย็นในขณะนี้ เป็นสภาพอากาศปิดโดยเฉพาะหุบเขาทางภาคเหนือน่าจะมีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากควันต่าง ๆ ไม่สามารถระบายออกได้  ส่วนภาวะก๊าซเรือนกระจก คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จะทำให้ทั่วโลกมีอากาศสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสต่อ  20 ปี หรือใน 50 ปีข้างหน้าอุณหภูมิจะสูงขึ้นประมาณ 2-3 องศา   แต่ประเทศไทยไม่น่าเป็นห่วงเพราะอยู่ในโซนที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ยดร.อานนท์ บอกอีกว่า จากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยต้องตระหนัก  ถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือในอนาคต เพราะต้องใช้เวลานานในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอื่น ๆ  หากผู้เกี่ยวข้องไม่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เกรงว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น แม้อาจไม่รุนแรงมาก แต่ก็สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างไม่คาดคิดเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา. นาตยา คชินทรnattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘รับมือสภาพอากาศ’ จากทั่วโลกถึงประเทศไทย

Posts related