ปัจจุบันการขุดล้อมต้นไม้ของนักจัดสวนในไทยโดยทั่วไปยังไม่มีการกำหนดขนาดที่เป็นมาตรฐาน ต้นไม้ที่ถูกขุดล้อมจึงมีขนาดของตุ้มดินไม่เท่ากัน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความถนัดของผู้ที่ทำการขุดล้อม ในกรณีการขุดล้อมและย้ายปลูกต้นไม้สำหรับการจัดสวน หลุมที่ขุดปลูกจำเป็นต้องปรับให้มีขนาดให้เท่ากับตุ้มดินด้วย ซึ่งหากมีอุปกรณ์ทุ่นแรงที่สามารถขุดหลุมปลูกต้นไม้ และเคลื่อนย้ายต้นไม้ไปในตำแหน่งที่ต้องการโดยใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วยได้ จะช่วยให้เกษตรกรผู้ขายต้นไม้ นักจัดสวนและปรับปรุงภูมิทัศน์มีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากสามารถลดต้นทุนด้านแรงงาน และลดเวลาในการทำงานได้ จากแนวคิดดังกล่าว นายฤาชา บุญยกิจ โณทัย นิสิตระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีระบบเกษตร ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการคิดค้นและพัฒนา “เครื่องขุดย้ายต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติ” ขึ้นมา ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องขุดย้ายต้นไม้ โดยมี ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ และ ผศ.ดร.สุดสายสิน แก้วเรือง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยมีจุดประสงค์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในงานด้านการขุดย้ายต้นไม้ ขุดหลุมปลูก และเคลื่อนย้ายต้นไม้ไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้ สามารถทำงานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยตุ้มดินและรากได้รับความกระทบกระเทือนน้อย ต้นไม้ไม่ช้ำและมีอัตราการรอดสูงเมื่อนำไปปลูกยังพื้นที่ใหม่ นายฤาชา บุญยกิจโณทัย กล่าวว่า เครื่องขุดย้ายต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติ ที่พัฒนาและออกแบบโดยใช้ระบบไฮดรอลิกเป็นอุปกรณ์ทำงานนั้น ยังไม่เคยปรากฏว่ามีการใช้งานในประเทศไทย จึงนับเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดทางการเกษตร มีกลไกการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ซ่อมบำรุงง่าย เกษตรกรผู้ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องขุดต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้หลักการและวิธีการทำงานของเครื่อง จะใช้ต่อเข้ากับพ่วงสามจุด (Three point hitch) ของรถแทรกเตอร์ขนาด 40-60 แรงม้า และมีชุดควบคุมระบบไฮดรอลิก ที่ใช้น้ำมันไฮดรอลิกจาก รถแทรกเตอร์ หรือระบบภายนอกได้ โดยมีส่วนที่สำคัญ คือ คานรูปตัวยูที่เคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้ในแนวดิ่งโดยอาศัยกระบอกไฮดรอลิกในการเคลื่อนที่ขึ้น-ลง และสามารถหมุนโยกได้ เพื่อทำการขุดล้อมหรือทำการหมุนเพื่อตัดรากให้ขาด ส่วนที่แขนทั้งสองข้างมีพลั่วโค้งครึ่งวงกลมปลายแหลมติดตั้งอยู่ ซึ่งพลั่วทั้งสองนี้สามารถเคลื่อนที่ขึ้น–ลงได้ในแนวเอียง โดยอาศัยแรงดันจากกระบอกไฮดรอลิกในการเคลื่อนที่ และเมื่อพลั่วทั้งสองเคลื่อนที่ลงต่ำสุดจะประกบกันเป็นรูปกรวยอยู่ใต้ดิน นายฤาชา กล่าวต่อว่า วิธีการใช้งานนั้น เมื่อต้องการขุดย้ายต้นไม้ให้ถอยรถแทรกเตอร์เข้าหาต้นไม้ที่ต้องการขุดย้าย ทำการควบคุมระบบไฮดรอลิก ให้พลั่วเคลื่อนที่ไปอยู่ ณ ตำแหน่งบนสุด ทำให้ปลายพลั่วทั้งสองข้างแยกห่างจากกัน ถอยรถแทรกเตอร์จนคานรูปตัวยูเข้าไปคร่อมต้นไม้ ในตำแหน่งที่พร้อมขุด จากนั้นวางเครื่องขุดย้ายต้นไม้ให้แนบกับพื้นดิน ทำการควบคุมระบบไฮดรอลิกเพื่อให้คานรูปตัวยูเคลื่อนที่ลงมาแนบกับพื้นดิน หลังจากนั้นให้ควบคุมระบบไฮดรอลิกเพื่อให้พลั่วทั้งสองเคลื่อนที่ลงเพื่อทำการขุดต้นไม้ โดยกดลงไปในดินจนสุดใบพลั่ว ซึ่งขั้นตอนนี้ สามารถบังคับให้เคลื่อนที่พร้อมกันทั้งสองข้าง หรือเคลื่อนที่สลับทีละข้างก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดต้นไม้และสภาพดินที่ขุด ต่อจากนั้นให้ควบคุมชุดระบบไฮดรอลิก เพื่อให้คานรูปตัวยูเคลื่อนที่ขึ้น ทำให้ต้นไม้พร้อมรากและดินถูกยกขึ้นจากพื้นดิน ซึ่งปลายพลั่วและต้นไม้จะลอยอยู่เหนือพื้นดิน ส่วนลำต้นก็จะถูกพยุงไว้โดยอุปกรณ์ประคองต้นไม้ สำหรับในกรณีต้องการขุดหลุมปลูกก็ทำเช่นเดียวกัน โดยหลุมที่ขุดได้จะมีลักษณะเหมือนกับหลุมที่ขุดต้นไม้ทุกประการ ส่วนการวางต้นไม้ลงไปในหลุมนั้น ก็เพียงแต่ทำการควบคุมชุดระบบไฮดรอลิก ให้คานรูปตัวยูเคลื่อนที่ลงแนบกับพื้นดิน พลั่วและดินพร้อมรากของต้นไม้ก็จะลงไปอยู่ในหลุม แล้วจึงดึงพลั่วขึ้นเป็นการเสร็จขั้นตอนการทำงาน “จุดเด่นของเครื่องนี้ คือสามารถใช้งานในการขุดต้นไม้ เช่น ต้นปาล์ม เพื่อรอการจำหน่าย รวมถึงในการจัดภูมิทัศน์ จัดสวนประดับตกแต่งให้สวยงาม เมื่อขุดต้นไม้ขึ้นมาและนำมาห่อตุ้มดินไว้ ดินจะไม่แตกออกจากราก ทำให้รากได้รับความกระทบกระเทือนน้อย ต้นไม้ไม่ช้ำ ขนย้ายสะดวก และนำไปปลูกก็ง่ายเพราะหลุมที่ขุด ก็มาจากการใช้เครื่องนี้ทำให้สภาพและขนาดของหลุมที่ขุดขึ้นจึงเหมือนกันทุกประการ เป็นการพัฒนาขึ้นเพื่อให้มีความเหมาะสมกับผู้ใช้งานต่าง ๆ” นายฤาชา กล่าว อย่างไรก็ตามผลงาน “เครื่องขุดย้ายต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติ” ของนายฤาชา บุญยกิจโณทัย ได้ส่งเข้าประกวดใน “โครงการส่งเสริมการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ และเครือข่ายนวัตกรรมอุดมศึกษา ประจำปี 2556” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้รับรางวัลระดับดีเด่น 2 รางวัล คือ รางวัลดีเด่นประเภทการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์คิดค้น และรางวัลดีเด่นประเภทการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร (ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และเตรียมจะเข้ารับรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2557 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ. 2557 จากรางวัลที่ได้รับเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า “เครื่องขุดย้ายต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติ” ที่พัฒนาขึ้นสามารถทำงานด้วยความสะดวกและรวดเร็ว ช่วยให้ผู้จัดสวนและเกษตรกรผู้ขายต้นไม้มีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้นได้ สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทร. 0-2561-3482.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘เครื่องขุดย้ายต้นไม้แบบกึ่งอัตโนมัติ’ฝีมือนิสิตปริญญาโท คณะเกษตร มก. – ฉลาดสุดๆ

Posts related