ในโลกอินเทอร์เน็ตนอกจากจะมีความรู้อยู่อย่างมหาศาลแล้ว ยังมีภัยออนไลน์แฝงตัวคอยหลอกเหยื่อที่ไม่รู้เท่าทันอีกมากเช่นกัน เห็นได้จากข่าวในทางไม่ดีที่สื่อมวลชนรายงานอย่างต่อเนื่อง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทย อยากเห็นเด็กไทยได้ใช้อินเทอร์เน็ตสีขาว และเรียนรู้ในการป้องกันตนเองจากสิ่งที่ไม่ดีในอินเทอร์เน็ต จึงได้ เปิดโครงการ เซฟ อินเทอร์เน็ต (Safe Internet) ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ 1 ล้านชั่วโมงเพื่อเด็กไทย เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนที่เริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกให้ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต รู้เท่าทันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากภัยออนไลน์    นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ในปี ค.ศ.  2013 ที่ผ่านมา ประชากรของ 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน มีจำนวนประมาณ 628.6 ล้านคน มีคนเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ต 190.4 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ส่วนอีก 2 ใน 3 กำลังจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นก็คือโทรศัพท์มือถือที่ติดตัวเราตลอดเวลา เด็ก ๆ จึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ในการป้องกันตนเองจากสิ่งที่ไม่ดีในอินเทอร์เน็ต “ปัจจุบันยังมีเด็กที่อยู่นอกเมืองยังไม่รู้ว่ากูเกิลคืออะไร และอินเทอร์เน็ตไม่ได้มีแค่เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์เท่านั้น แต่อินเทอร์เน็ตยังมีความรู้อีกมากที่จะช่วยให้เด็กไทยมีศักยภาพในการแข่งขันโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปีหน้า อย่างไรก็ตามเนื้อหาหรือคอนเทนต์บนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ของจริงทุกอย่างมีทั้งเนื้อหาที่จริงและไม่จริง ซึ่งหากเป็นผู้ใหญ่จะมีวุฒิภาวะเพียงพอในการตัดสินใจ แต่ในขณะที่เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการจะตัดสินใจว่าอะไรถูกหรือผิด” ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมา เทเลนอร์กรุ๊ป ได้เข้าไปลงทุนด้านโทรคมนาคมในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเป็นผู้ถือหุ้นในดีแทค ก็ได้มีโครงการเพื่อส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในหลาย ๆประเทศ โดยในประเทศไทย ทางดีแทคมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้งานได้อย่างปลอดภัย นายจอน กล่าวว่า ดีแทคจะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำอินเทอร์เน็ตให้เป็นสีขาว และร่วมมือกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อเข้าไปให้ความรู้เด็กเกี่ยวกับภัยทางอินเทอร์เน็ต ให้เด็กได้ประโยชน์จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ เลี่ยงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม เพื่อความพร้อมสำหรับการเป็น ดิจิตอล ซิติเซนส์ ด้านนายโอลา โจ แทนเดร ผู้อำนวยการด้าน Sustainability  เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจจุบันจะเห็นข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในทางไม่ดี เช่น การแชตหลอกลวง  การนำเนื้อที่ไม่เหมาะสมเข้าสู่อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งการที่ผู้ปกครองได้เห็นข่าวแล้วป้องกันด้วยการไม่ให้เด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจนกว่าจะอายุ 18 ปี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรมสำหรับเด็ก  “จากผลการวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2017 หรือ พ.ศ. 2560 จะมีเด็กที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 176 ล้านคน  และกว่า 85 ล้านคนจะใช้โทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งในโลกอินเทอร์เน็ตยังมีความเสี่ยงอยู่หลายอย่าง ภูมิคุ้มกันของเด็กเองจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กลดความเสี่ยงลง  อย่างไรก็ตามความเสี่ยงก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากใช้งานมากก็มีความเสี่ยงมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้มีภูมิคุ้มกันสูงด้วย โดยเด็กในนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์กจะมีภูมิคุ้มกันสูง ขณะที่เด็กไทยความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำและมีภูมิคุ้มกันระดับที่ดี เป็นผลมาจากวัฒนธรรม และความเอาใจใส่ของครอบครัวพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ความเสี่ยงเหล่านี้ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ อีก” ทั้งนี้ผลการสำรวจขององค์กรนานาชาติ ECPAT ถึงข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทย ระบุว่า อันตรายร้ายแรงที่สุดของเด็กและเยาวชนไทยคือ การพูดคุยทางอินเทอร์เน็ต โดยเยาวชนร้อยละ 24 เคยมีนัดกับเพื่อนที่รู้จักกันบนอินเทอร์เน็ต และอีกร้อยละ 42 มีความคิดที่อยากพบเพื่อนที่รู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต และกลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 71 เคยเข้าไปดูเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพอนาจาร และมีจำนวนถึงร้อยละ 52 ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมดาในการเข้าไปดูและแลกเปลี่ยนภาพเหล่านี้ นอกจากนี้เมื่อเจอปัญหาและตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงโดยคู่สนทนาบนอินเทอร์เน็ต เด็กร้อยละ 45 จะเก็บไว้โดยไม่เล่าให้ใครฟัง ซึ่งอาจทำให้ล่าช้าเกินกว่าจะแก้ไข    ด้าน น.ส.ณัฐวรรณ ศศิพิบูลย์ ผู้อำนวยการ ด้านกิจกรรมเพื่อสังคม  กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในอันดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเออีซี ดีแทคจึงมีนโยบายที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น มีความปลอดภัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงได้เริ่มโครงการ เซฟ อินเทอร์เน็ตขึ้น  ด้วยการนำอินเทอร์เน็ตเข้าไปยังโรงเรียนต่าง ๆ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกวิธี เริ่มตั้งแต่ระบบพื้นฐาน เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีความปลอดภัย โดยมีพนักงานของดีแทคเป็นวิทยากรและเป็นพี่เลี้ยงและจะมีการกลับไปติดตามผลอย่างต่อเนื่อง “โครงการนี้เบื้องต้นมีแผน 3 ปี โดยในปี ค.ศ. 2014 ตั้งเป้าหมายเข้าไปยัง 200 โรงเรียนทั่วประเทศ  ส่วนในปี ค.ศ. 2015 จะขยายไปยังกลุ่มครู เพื่อให้ครูสามารถแนะนำเรื่องนี้กับเด็ก ๆ ได้ จากนั้นในปี ค.ศ. 2016 จะขยายการให้ความรู้ไปยังกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป” น.ส.ณัฐวรรณ กล่าว อินเทอร์เน็ตในทุกวันนี้มีทั้งคุณและโทษ แต่หากเราฉลาดที่จะเลือกใช้ย่อมมีคุณมากกว่าโทษอย่างแน่นอน. จิราวัฒน์ จารุพันธ์ JirawatJ@dailynews.co.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘เซฟ อินเทอร์เน็ต’ รู้เท่าทันภัยออนไลน์ – ฉลาดสุดๆ

Posts related