“ขณะนี้เครื่องลำแรกของเราได้เดินทางจากซีแอทเติล ผ่านโฮโนลูลู เซบูของฟิลิปปินส์ ต่อมาที่มาเลเซีย และมายังประเทศไทย ขณะที่เครื่องลำที่ 2 กำลังจะตามมาในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบระบบต่าง ๆ เพื่อส่งมอบ โดยสายการบินของเราเป็นสายการบินแรกที่จะได้เครื่องโบอิ้ง 737-900 อีอาร์เอสมาให้บริการ” กัปตันวรวุฒิ วงศ์โกสิตกุล ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ระบุ เครื่องบินโบอิ้ง 737-900 อีอาร์เอสเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ของค่ายโบอิ้งที่มีการขยายส่วนลำตัวให้มีความกว้างมากขึ้น และด้วยช่วงที่ยาวกว่าจึงทำให้สายการบินโลว์คอสต์สัญชาติอินโดนีเซีย-ไทย มีข้อได้เปรียบสายการบินโลว์คอสต์อื่น ๆ ที่มีอยู่ในไทย ด้วยการบรรทุกผู้โดยสารได้สูงที่สุดถึงครั้งละ 215 ที่นั่ง และที่สำคัญเครื่องรุ่นนี้ยังสามารถให้บริการได้ไกลกว่า จึงอาจจะสามารถเปิดเส้นทางบินไปถึงจีน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นได้ด้วยในอนาคต สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เป็นส่วนหนึ่งของไลอ้อน กรุ๊ป ที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายอีก 4 สายการบิน ได้แก่ ไลอ้อน แอร์ สายการบินราคาประหยัดของอินโดนีเซีย, วิงส์ แอร์ สายการบินที่เน้นเชื่อมโยงเส้นทางระยะใกล้กว่า, บาติก แอร์ สายการบินราคาปกติที่ให้บริการเต็มรูปแบบ และมาลินโด แอร์ สายการบินพันธมิตรที่มีฐานอยู่ในมาเลเซีย โดยถือครองสัดส่วนการให้บริการผู้โดยสารมากกว่าร้อยละ 50 ของตลาดการบินภายในอินโดนีเซีย ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีการประกาศจัดตั้งเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนระหว่างไลอ้อน แอร์ กับ ภูเก็ต แอร์ บริษัทการบินของไทย โดยเป็นพันธมิตรบริหารสายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองภายใต้ชื่อ “ไทย ไลอ้อน แอร์” ด้วยความที่ภูมิประเทศของอินโดนีเซียที่เป็นเกาะการเดินทางเชื่อมโยงหากันด้วยเครื่องบินจึงเป็นหนทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด และแม้จะแชร์ส่วนแบ่งในตลาดมากกว่าสายการบินแห่งชาติอย่างการูด้า อินโดนีเซีย แอร์ไลน์ แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้ไลอ้อน กรุ๊ปที่กำลังจะมีเครื่องบินในครอบครองถึง 708 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยส่งมอบสยายปีกได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยที่ดูเหมือนจะเป็นฮับทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 “เรามองว่าโอกาสการเติบโตของตลาดต่างประเทศยังมีอีกมาก จึงเริ่มรุกด้วยการเพิ่มศูนย์กลางทางการบินนอกเหนือจากจาการ์ตา และกัวลาลัมเปอร์และกรุงเทพฯ เป็นสองแห่งที่ถือว่ามีศักยภาพมาก ในส่วนของมาลินโด แอร์นั้นปัจจุบันให้บริการไปยัง 12 จุดหมายในมาเลเซีย และเส้นทางระหว่างประเทศอีก 3 แห่ง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นจะเริ่มต้นด้วย 3 เส้นทางก่อนจะค่อย ๆ ขยายเส้นทางบินเพิ่มตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเชื่อว่าไทย ไลอ้อน แอร์จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนไว้ด้วยกัน พร้อมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับไลอ้อน กรุ๊ปด้วย” มร.รัสดี คีรานา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลอ้อน กรุ๊ป ระบุ 3 เส้นทางบินแรกที่ว่า ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-จาการ์ตา วันละ 2 เที่ยวบิน, กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยว และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วันละ 3 เที่ยวบิน โดยในช่วงแรกจะมีเครื่องบินให้บริการจำนวน 2 ลำ และจะเพิ่มเป็น 3-4 ลำในปี 2557 โดยมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินจากกรุงเทพฯไปยังเชียงราย พิษณุโลก อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินระหว่างเชียงใหม่-กระบี่, หาดใหญ่-กระบี่ และหาดใหญ่-ภูเก็ต ขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศอย่างจีนนั้นมีแผนที่จะขยายเส้นทางไปยังเซิ่นเจิ้น ฮ่องกง กวางโจว และเซี่ยงไฮ้ และอาจเลยไปจนถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนตอนบนด้วย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน ไทย ไลอ้อน แอร์ ระบุว่า สำหรับเส้นทางบินระยะไกลนั้น ด้วยเครื่องบินรุ่นที่มีอยู่จะทำให้ไทย ไลอ้อน แอร์ขยายเส้นทางบินระยะไกลได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เปรียบกว่าสายการบินต้นทุนต่ำอื่น ๆ นอกจากเครื่องบินที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการต่ำลงแล้ว การเลือกที่จะบริหารจัดการในส่วนอื่น ๆ เองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบริการภาคพื้นดิน หรือในส่วนของการซ่อมบำรุง ซึ่งรวมแม้กระทั่งรถขนส่งผู้โดยสารที่สั่งซื้อมาพร้อมให้บริการแล้ว จะยิ่งทำให้ไทย ไลอ้อน แอร์สามารถลดราคาค่าโดยสารแข่งกับสายการบินโลว์คอสต์อื่นได้ไม่ยาก นำพล รุ่งสว่าง ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ระบุว่า ราคาขายตั๋วจะตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดคงที่และถูกกว่าคู่แข่ง แม้ว่าผู้โดยสารจะมาซื้อตั๋วโดยสาร ณ วันเดินทางก็ตาม เพราะจะไม่มีการบวกค่าธรรมเนียมใด ๆ เพิ่มนอกเหนือไปจากค่าภาษีสนามบินและน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งยังให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าได้ฟรีคนละ 15 กิโลกรัมด้วย และยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารด้วยการวางแผนเปิดจุดขายตั๋วให้เข้าถึงได้ง่ายที่สุด.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ไลอ้อน แอร์’ เลือกไทย เป็นฮับ 1 ใน 3 ของอาเซียน

Posts related