นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ กนอ. เกี่ยวกับการอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ว่า  คณะกรรมการคัดเลือกเหลือ 6 โครงการ จากผู้ประกอบการผ่านคุณสมบัติเข้ามา 13 โครงการ  คิดเป็นพื้นที่  4,800 ไร่ แบ่งเป็น นิคมฯ จังหวัดอุดรธานี 2,000 ไร่ ของบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด  นิคมฯ จังหวัดหนองคาย 1,500 ไร่ ของบริษัท นาคา คลีนเพาเวอร์ จำกัด นิคมฯ จังหวัดนครราชสีมา 600 ไร่  ของบริษัท สวนอุตสาหกรรมพลังงาน  นิคมฯ โลจิสต์ติกส์ จังหวัดเชียงราย 300 ไร่  ของบริษัท เมืองเงินดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด ขณะที่นิคมฯเอสเอ็มอีอีก 2 แห่ง แห่งละ 200 ไร่ ของบริษัท อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท (ระยอง) จำกัด  “จากการเปิดให้ยื่นตั้งนิคมฯ ครั้งนี้  แต่ละแห่งจะใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) รวมถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี  คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการขายพื้นที่ได้อย่างเร็วในปลายปี58             สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัตินั้น บอร์ดพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 5 ด้าน  เช่น ด้านเทคนิค การเงิน การตลาด และด้านการส่งเสริมการลงทุน”  ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปเมื่อได้รับอนุมัติแล้วผู้ประกอบการต้องยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน กับ กนอ.  ด้วยการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม กับ กนอ. ภายใน 3 เดือน  จัดส่งเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกสารอื่นๆ เพื่อประกอบการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม ภายใน 1 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน  พร้อมส่งรายงานผลการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฉบับสมบูรณ์ ต่อ กนอ. ภายใน 6 เดือน หลังจากประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมนอกจากนี้ต้องยื่นขออนุมัติผังแม่บท ผังจัดสรรที่ดิน และแบบก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของโครงการนิคมอุตสาหกรรม ต่อ กนอ. ภายใน 3 เดือน หลังจากที่อีไอเอ ได้รับอนุมัติ รวมทั้งดำเนินการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือ ตามที่ กนอ. เห็นชอบ หลังจาก โครงการได้รับอนุมัติผังจัดสรร จาก กนอ. และส่งมอบที่ดินให้ กนอ. เพื่อก่อสร้างศูนย์โอเอสเอส ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ หรือ ตามที่ กนอ. กำหนดภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้รับอนุมัติผังแม่บทสำหรับปี 57 คาดการณ์ยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ3,000-4,000 ไร่ ต่ำกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่มียอดขายกว่า 5,000 ไร่  เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมขยายตัว เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  และปีนี้ยอดการลงทุนจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยหากมองในแง่พื้นฐานเศรษฐกิจ ตอนนี้นักลงทุนยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยถ้าหากเหตุการณ์การเมืองในประเทศสงบ เพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัวมาก ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องคือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน แต่จะต้องขึ้นอยู่กับโครงการอีโคคาร์ 2 ด้วย ว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้หรือไม่ รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมทุกประเภท 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บอร์ดกนอ.ไฟเขียวตั้ง6นิคมฯใหม่

Posts related