รูมาตอยด์ คือ โรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะรักษาไม่หายและถ้าได้รับการรักษาช้าอาจทำให้ข้อถูกทำลายได้ แต่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้น ผู้ป่วยก็สามารถจะอยู่กับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นางสาวนิภาวรรณ ปรมาธิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. บอกว่าปกติการรักษาโรครูมาตอยด์ทำได้ 3 วิธี วิธีแรก คือ รักษาโดยการผ่าตัด แต่มีข้อเสีย อาจทำให้กระดูกผุกร่อน และโรคสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้ง วิธีที่สอง คือ รักษาโดยการใช้ยา ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้ เนื่องจากถ้าใช้ยาที่มีขนาดเกินขีดกำหนด จะมีผลเสียต่อระบบภายในร่างกาย และ วิธีสุดท้าย คือ การรักษาด้วยเภสัชรังสี โดยรังสีสามารถเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อโดยรังสีจะสามารถทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่เกิดการอักเสบ และสามารถใช้ในการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและระยะเรื้อรังได้ ซึ่งล่าสุดสทน. โดยความร่วมมือของนักวิจัยด้านเภสัชรังสีและศูนย์ไอโซโทปรังสี ประสบความสำเร็จในการวิจัยและผลิตเภสัชรังสี เพื่อรักษาโรครูมาตอยด์ โดยสามารถผลิตเภสัชรังสี สำหรับรักษาโรคดังกล่าวได้ถึง 2 ตัว ได้แก่ ซาแมเรียม-153 เฮชเอ (153Sm-HA) และ อิตเทรียม-90 ซิเตรท คอลลอยด์ (90Y-citrate colloid) ซึ่งจัดเป็นยาฉีดเพื่อใช้สำหรับการนำมารักษาโรครูมาทอยด์ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและระยะเรื้อรังได้ตามลำดับ ด้านนางอังคนันท์ อังกุรรัตน์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์คุณภาพ ศูนย์ไอโซโทปรังสี บอกว่า ซาแมเรียม-153 เฮชเอ เป็นยาฉีดที่มีความบริสุทธิ์ทางเคมีรังสีมากกว่า 90% มีความคงตัว 2 วัน มีความเป็นกรดเบส (pH) = 4-7 มีความปลอดเชื้อ และปลอดพิษ ส่วน อิตเทรียม-90 ซิเตรท คอลลอยด์ เป็นยาฉีดที่มีลักษณะเป็นสารคอลลอยด์สีขาวขุ่น โดยมีความบริสุทธิ์ทางเคมีรังสีมากกว่า 95% มีความคงตัว 15 วัน มีความเป็นกรดเบส (pH) = 5.5-7 มีความปลอดเชื้อ และปลอดพิษ เนื่องจาก อิตเทรียม-90 ซิเตรท คอลลอยด์ มีลักษณะเป็นคอลลอยด์ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับการฉีดสารดังกล่าวเข้าข้อต่าง ๆ และช่วยให้การกระจายตัวของยาไปยังบริเวณเยื่อหุ้มไขข้ออักเสบได้ทั่วถึง ทำให้มีประสิทธิภาพของการรักษาได้ดี แต่อย่างไรก็ตามสนท.บอกว่า อิตเทรียม-90 มีข้อเสียคือ ให้เฉพาะอนุภาคบีตา เพราะฉะนั้นในการติดตามและวัดปริมาณของรังสีจะทำได้ยากกว่า ซาแมเรียม-153 ซึ่งให้รังสีแกมมาและบีตาพร้อมกัน แต่การวัดปริมาณรังสีฮิตเลียม -90 สามารถแก้ไขโดยอาศัยการวัดเนื่องมาจากการเกิดรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าทดแทนได้ ซึ่งมีผลทำให้การรักษาโรครูมาตอยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น . นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สทน. พัฒนารังสี รักษาโรครูมาตอยด์

Posts related