แม้การเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 ก.พ. 57 จะผ่านพ้นไปแล้วแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้และสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถเปิดเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากมีจำนวน ส.ส. ไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้จนหลายฝ่ายแสดงความกังวลมาก เชื่อว่าประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการจำเป็นต้องพึ่งตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรเอกชนต่างเร่งหามาตรการเพื่อประคองกิจการของเครือข่ายให้ฝ่าฟันวิกฤติประเทศไทยครั้งนี้  ประเด็นความร้อนแรงทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อไร้จุดจบทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 ฝ่ายประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยซึ่งมีประชุมทุกต้นเดือนครั้งนี้มีวาระสำคัญโดยยกประเด็นผลกระทบทางการเมืองต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ มาหารืออย่างเข้มข้นเพื่อสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาแนวทางการช่วยเหลือต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีสายป่านสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นเท่านั้น  ห่วงลากยาวกระทบจีดีพีหาย 2.4 แสนล้าน  นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ประชุมกกร.ได้หารือถึงผลกระทบทางการเมืองต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งจากการประเมินตัวเลขมหภาคพบว่าตัวเลขต่าง ๆ หลายตัวลดลงจนน่ากังวล เช่น กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการส่งออกลดลงจึงกังวลว่าจะส่งผลต่อตัวเลขการผลิตในประเทศการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวโดยประเมินว่าหากการเมืองยืดเยื้อ 6 เดือนจะกระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ลดลง 1% หรือคิดเป็นมูลค่า 120,000 ล้านบาท แต่หากยืดเยื้อทั้งปีนี้อาจทำให้จีดีพีหายไป 2% คิดเป็นมูลค่า 240,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าทั้งปีจีดีพีน่าจะขยายตัว 5-6% ตามเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามจากการประเมินพบว่าธุรกิจขนาดเล็กมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะเน้นจำหน่ายในประเทศและขณะนี้มีสัญญาณการบริโภคลดลงชัดเจนซึ่ง กกร. ได้ข้อสรุปว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเข้าช่วยเหลือให้ความรู้ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้กับรายเล็ก การพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการส่งออกมากขึ้น รักษาตลาดเดิม หาตลาดใหม่และกระตุ้นการค้าชายแดน พร้อมทั้งเร่งสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นให้ลูกค้าต่างชาติเชื่อมั่นในการสั่งสินค้าไทย โดย กกร. จะพยายามชี้แจงผ่านเวทีต่าง ๆ เพื่อสื่อสารให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจเชื่อว่า นักลงทุนเองรับข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ อยู่แล้วเช่นกัน และขณะนี้ยังมีปัญหาการไม่มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพราะคณะกรรมการชุดเดิมหมดอายุต้องรอการแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดใหม่ทำให้การส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 200 ล้านบาทไม่สามารถดำเนินการได้ เอกชนเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นทูต    นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า ขณะนี้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยมากที่สุด ยอมรับว่าช่วงที่การเมืองไทยอยู่ในภาวะสุญญากาศ ทำให้ภาครัฐไม่สามารถออกนโยบายต่าง ๆ ได้เต็มที่ ดังนั้นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต้องการให้การเมืองกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ควรหาแนวทางในการเจรจาหาข้อยุติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ในส่วนของภาคเอกชนจะไม่มีสุญญากาศแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนต่างหามาตรการในการช่วยเหลือเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้สามารถประคองธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหารือกับสมาคมธนาคารไทยในการหาแนวทางช่วยเหลือสภาพคล่อง ขณะเดียวกันก็จะการเดินทางไปพบปะกับเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ รวมถึงการหาแนวทางร่วมกันในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศนั้น ๆ ที่อยู่ในไทย เบื้องต้นบรรดาทูตเป็นห่วงนักลงทุนใหม่ที่เข้ามาอยู่ในไทย เพราะข่าวที่ออกไปถือว่าค่อนข้างน่ากลัวมาก แต่ในส่วนของนักลงทุนรายเก่าที่อยู่มานานส่วนใหญ่ก็เข้าใจถึงวัฒนธรรมประเทศไทยเป็นอย่างดี แบงก์ขยายวงเงิน–ชำระหนี้ช่วยผู้ประกอบการ  นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า จากการหารือร่วมกับสมาชิกสมาคมธนาคารไทยทุกแห่งมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างดี ทางธนาคารแต่ละแห่งจึงมีแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้ การเพิ่มวงเงินเพื่อนำไปเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยจะพิจารณาเป็นราย  ๆ เพราะแต่ละรายความช่วยเหลือจะไม่เหมือนกัน ท่องเที่ยวหวั่นรายได้หลุด 2 ล้านล้าน    นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า เป้าหมายรายได้ของการท่องเที่ยวไทยในปี 57 อาจไม่ถึง 2 ล้านล้านบาทแล้ว หรืออาจลดลงประมาณ 10% เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่ชัดและไม่มีทิศทางทำให้ไม่สามารถประสานงานด้านนโยบายจากภาครัฐได้ ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก ก็ลดลงทั้งจากการควบคุมกฎหมายทัวร์คุณภาพของรัฐบาลจีน กับปัญหาการเมืองไทยที่ไม่มีความปลอดภัยนักท่องเที่ยวจึงไม่มั่นใจมา ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าในปี 57 รายได้ทางการท่องเที่ยวอาจจะคงที่หรือลดลงประมาณ 10% อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องของสภาพคล่องไม่มีเงินหมุนเวียน เนื่องจากการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้นักท่องเที่ยวงดการจองล่วงหน้าลงไปทันที โดยปัจจุบันในส่วนของโรงแรมมีกลุ่มเอสเอ็มอีประมาณ 70% และภาคธุรกิจทัวร์มีประมาณ 80% ส่วนการทำตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่อจากนี้จะต้องโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวนอกกรุงเทพฯให้ได้มากขึ้น เพราะอัตราการจองห้องพักบริเวณพื้นที่ราชประสงค์และสุขุมวิทลดลงมาก แต่ในทางกลับกันโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ติดริมแม่น้ำยังคงมีอัตราการเข้าพักที่ดีอยู่ “ตอนนี้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จะต้องเดินได้ด้วยตัวเองหรือสร้างความเข้มแข็งให้ได้เองเท่านั้น เพราะในสถานการณ์แบบนี้คงไม่มีใครมองออกว่าจะเป็นเช่นไร แต่เศรษฐกิจของไทยก็ยังต้องเดินหน้า สิ่งที่ทำได้ก็มีการทำงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เท่านั้นเพราะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและมีงบประมาณของตัวเองอยู่แล้ว” การเมืองไร้จุดจบฉุดตลาดทุน  นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย กล่าวว่า แม้การเลือกตั้งของประเทศจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังไม่ใช่จุดจบของปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น เนื่องจากต่างชาติยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากการที่หลายสำนักประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตต่ำกว่า 3% นอกจากนี้การเมืองไทยที่ยังอยู่ในภาวะสุญญากาศจะกระทบต่อการคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ขณะเดียวกันยังทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน 5 ประเทศ   หากเอกชนมัวแต่รอพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียวรับรองคงไม่รอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้เพราะนักการเมืองก็ยังเอาตัวเองไม่รอด ดังนั้นแนวทางที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดคือการพึ่งพาตนเองและสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือกัน. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนเมินพึ่ง‘รัฐ’หันพึ่งกันเอง เอสเอ็มอีลูกผีลูกคนต้องหาทางอุ้ม

Posts related