นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้แรงงานไทยมองว่าแรงงานต่างด้าวจากเพื่อนบ้านทั้งจากพม่า เวียดนาม กัมพูชา และ ลาว เริ่มมีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าแรงงานไทย เนื่องจากไม่เลือกงานและทุ่มเทการทำงานมากกว่า ขณะที่แรงงานไทยเริ่มหางานที่สบายๆ และไม่หนัก ดังนั้นก่อนที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องฝึกทักษะฝีมือ,  ภาษาอังกฤษ, เทคโนโลยีและความรู้ทั่วไปแก่แรงงานไทยเพื่อยกระดับให้เป็นแรงงานฝีมือหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับต่างด้าว “เท่าที่สำรวจจากมุมมองของแรงงานด้วยกันตอนนี้แม้จะมีประสิทธิภาพพอๆกัน แต่ดูว่าต่างด้าวจะดีกว่านิดๆ โดยเฉพาะการสู้งาน, ไม่บ่น และเรื่องของภาษาอังกฤษ  ดังนั้นแรงงานไทยก็จำเป็นต้องหนีต่างด้าวโดยการพัฒนาฝีมือให้อยู่ในอีกระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพราะหากไม่พัฒนาฝีมือขึ้นมาก็จะถูกต่างด้าวแย่งงานได้หากมีการเปิดเออีซี” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แรงงานก็ควรเร่งพัฒนาฝีมือเช่นการเข้าโครงการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อรองรับเศรษฐกิจฟื้นและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มที่ยังไม่มีงานทำ เนื่องจากในระยะหลังประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวพบว่าต่างด้าวมีดีกว่า ดังนั้นแนวทางในการปรับตัวควรเน้นทักษะฝีมือแรงงาน, ทักษะด้านภาษา, ทักษะด้านเทคโนโลยี และความรู้อื่นๆทั่วไป “การเปิดเออีซีนั้นเชื่อว่าแรงงานไทยคงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เห็นได้จากผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่าแรงงานไทยจะได้รับผลกระทบมากถึง 22.3% ได้รับผลกระทบปานกลาง 74.1% และ กระทบน้อย 3.6%” นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนนั้นแรงงานจำเป็นต้องมีแนวทางในการปรับตัวโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีหนี้สินมากๆ  ต้องเร่งเจรจาผ่อนปรนกับเจ้าหนี้เพื่อให้สถาบันการเงินยืดระยะเวลาชำระหนี้หรือการผ่อนระยะยาวในอัตราที่ต่ำ ส่วนผู้เป็นหนี้นอกระบบนั้นหากลูกหนี้มีทรัพย์สินก็ควรนำไปขายเพื่อจ่ายหนี้ให้หมดเพราะดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือกู้เงินในระบบมาโป๊ะหนี้นอกระบบ เพราะเงินกู้ในระบบมีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมากนัก ส่วนกลุ่มที่มีรายได้เดือนชนเดือน ก็ต้องมีความระมัดระวังค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  เช่น การปรับเพ็กเก็จโทรศัพท์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น ขณะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้มั่นคงและมีเงินออมมากก็ไม่ควรตื่นตระหนกกับสถานการณ์ในปัจจุบันและต้องกล้าที่จะลงทุน เช่น การซื้อหุ้น, ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน เนื่องจากสินทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในระดับราคาที่ต่ำมากและหากมีรัฐบาลตัวจริงเมื่อไร่มั่นใจว่ามูลค่าของสินทรัพย์จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และที่สำคัญดอกเบี้ยในการขอสินเชื่อก็ยังอยู่ในระดับต่ำเหมาะต่อการลงทุนซื้อสิ่งเหล่านี้ได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แรงงานต่างด้าวไม่เลือกงาน-ไม่บ่น

Posts related