ได้มีข้อเสนอจากศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อจัดการระเบียบ ระบบการเงินและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาใหม่โดยมีข้อเสนอ 4 แนวทางในวารสารฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว โดย ดร.คริสเตียนเซ่น และกลุ่มศิษย์เก่าของฮาร์วาร์ด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซีอีโอและนักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ข้อเสนอ 4 แนวทางของ ดร.คริสเตียนเซ่น คือ หนึ่ง จะต้องจัดให้มีเป้าประสงค์ของการจัดการกองทุนและการลงทุนใหม่ สองจะต้องสร้างความสมดุลทางธุรกิจใหม่ สามจะต้องปรับทิศทางและแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของการจัดสรรทรัพยากรใหม่ และสี่ให้ความเป็นอิสระในการจัดการองค์กร ทั้ง 4 แนวทางนับว่าท้าทายมากต่อยุคทุนนิยมของอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งระบบทุนนิยมอเมริกันตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีการแข่งขันเพื่อสะสมเงินลงทุนโดยหวังกำไรระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่และคนมักจะบูชาเงินและความร่ำรวยให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม และในหลายครั้งคิดว่าเงินคือพระเจ้า ผู้เขียนยังคิดว่า 4 แนวทางนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดี การปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลาย ยิ่งเป็นเรื่องยากทีเดียวและต้องได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องจากภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาลด้วย เรามาดูแนวทางแรกก่อน จะต้องมีเป้าประสงค์ของการจัดการกองทุนและการลงทุนใหม่ ซึ่งปัจจุบันกองทุนในสหรัฐอเมริกาถือว่าอยู่ในอาการป่วย เราต้องการนโยบายในการจัดกองทุนใหม่เพื่อให้เงินลงทุนไหลสะพัดอันจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่มุ่งเสริมสร้างนวัตกรรมที่ก่อผลดีทางเศรษฐกิจ คือเกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก เกิดธุรกิจลูกโซ่ตามมาอีกจำนวนมาก กองทุนในสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน ดร.คริสเตียนเซ่นได้ให้คำจำกัดความไว้สามลักษณะ ลักษณะแรกคือ กองทุนที่มีการโยกย้ายตลอดเวลา กองทุนเหล่านี้ไม่มีที่อยู่แน่นอน เมื่อลงทุน ณ ที่ใดก็มักจะอยู่ได้ไม่นานและรีบถอนออกเร็วที่สุด พร้อมด้วยเงินกำไรที่เป็นก้อนเงินลงทุนมากกว่าเดิม ถ้าเริ่มขาดทุนก็จะยิ่งรีบถอนออกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะอยู่ได้ในช่วงที่มันได้กำไรสูงสุดระยะสั้น ลักษณะที่สองคือ ประเภทกองทุนขี้ขลาด คือรังเกียจความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ กองทุนประเภทนี้เมื่อพิจารณาในบัญชีงบดุล (Balance Sheet) ถ้าหากลงทุนแล้วไม่ได้กำไรสู้ไม่ต้องลงทุนเลยดีกว่า ไม่ได้กำไรคือ ความเสี่ยง อะไรที่เกิดความเสี่ยงมักจะแช่ทิ้งไว้เพื่อให้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงขาดนวัตกรรม ลักษณะสุดท้ายคือ กองทุนบรรษัทซึ่งก็คือ เมื่อก้อนเงินลงทุนเข้าสู่บริษัทแล้ว เงินกองทุนก็จะอยู่ตรงนั้นใช้กับบริษัทนั้นไม่หนีไปไหน เงินกองทุนเหล่านี้ยิ่งแก้ปัญหาให้มัน มันจะยิ่งหนีไปสู่กองทุนของบรรษัทต่าง ๆ ที่มีผลประกอบการที่มีกำไรให้เห็น เพราะฉะนั้นกองทุนบรรษัทจึงเป็นศูนย์รวมของทั้งกองทุนอพยพย้ายที่เพื่อหากำไรและเหล่ากองทุนขี้ขลาดเพราะไม่มีความเสี่ยง แต่จะมีผลประโยชน์และกำไรงอกเงยขึ้นเหมือนคนอ้วนที่กำลังจะป่วย การจะสร้างเป้าประสงค์เพื่อให้คนอ้วนที่กำลังจะป่วยหรือกองทุนที่สะสมในปัจจุบัน มีการลงทุนด้านนวัตกรรมขนาดใหญ่ให้เกิดการเสริมสร้างเศรษฐกิจมักจะมีความเสี่ยงนั้นจะทำอย่างไร หลังจากสัมมนาของกลุ่มศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด ก็ได้มีข้อเสนอว่าน่าจะใช้วิธีการทางภาษีที่เรียกว่าภาษีโทบิน (Tobin Tax) ซึ่งจะทำให้กองทุนไหลและอพยพช้าลง ด้วยการเก็บภาษีโดยเฉพาะภาษีอากรสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งรวมทั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งก็เหมือนกับเททรายใส่ลูกล้อเพื่อให้เงินทุนไหลช้าลง และทำให้เกิดสภาพคล่องชะลอตัวในเชิงวิชาการอาจจะดูดีเป็นไปได้ แต่ก็มีอีกจำนวนมากคิดว่าประสิทธิภาพกองทุนจะมีมากกว่า ถ้าหากมีการปรับเป้าประสงค์ของการใช้กองทุนเพื่อการลงทุนให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นระยะยาวจะดีกว่า ซึ่งหมายถึงว่าบริษัทจะต้องให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนระยะยาวในแง่ความภักดีต่อองค์กรอย่างไร ซึ่งมีหลายวิธีโดยที่ทำให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายมองการพัฒนาตลาดเศรษฐกิจในระยะยาว เช่นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษาก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้เขียนขอเรียนว่าบทความนี้ไม่ใช่ทุนนิยมไทย เพียงแต่อยากให้ท่านผู้อ่านทราบถึงพฤติกรรมทุนนิยมอเมริกา แนวทางทางออกของไทยจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่เขียน. รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด boonmark@stamford.edu

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จัดการระบบทุนนิยมใหม่ในสหรัฐอเมริกา (9) – โลกาภิวัตน์

Posts related