ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง

พบกับ 4 ข้อดีของการซื้อแฟรนไชส์ 4 ความเสี่ยงที่ต้องระวังใน ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่คุณต้องรู้ก่อน จะไม่ต้องเสียใจภายหลัง

การเริ่มต้นสร้างธุรกิจของคุณเอง จำเป็นต้องมี 3 สิ่ง คือ ไอเดีย ทักษะ และทุน แต่ถ้าวันนี้คุณไม่รู้จะขายสินค้าอะไร นั่นคือ คุณยังไม่มีไอเดีย รวมถึงคุณไม่เคยประกอบธุรกิจมาก่อนเลย นั่นคือ คุณไม่มีทักษะ

แต่คุณมี เงินทุน ที่เพียงพอที่จะสร้างธุรกิจ และมีใจ อยากทำธุรกิจ ตั้งใจจริงที่จะทำให้เงินทุนที่คุณมีอยู่งอกเงย การซื้อแฟรนไชส์ น่าจะเป็นคำตอบที่สามารถตอบโจทย์ เรื่องอยากทำธุรกิจส่วนตัวของคุณ

ธุรกิจแฟรนไชส์นั้น เป็นทางลัดในการทำธุรกิจที่น่าสนใจ และทรงพลังมาก เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ได้ใช้ทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการสร้างธุรกิจ มาสนับสนุนผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์

ทำให้ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ ไม่ต้องเริ่มต้นสร้างธุรกิจเอง ลองผิด ลองถูก จากศูนย์ เพียงแค่จ่ายเงินเป็นค่าธรรมเนียมการซื้อแฟรนไชส์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนด ก็สามารถรับเอาสินค้า ทักษะ และความรู้ ความเชี่ยวชาญของเจ้าของแฟรนไชส์มาใช้ได้ทันที

ซึ่งทำให้ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์เริ่มต้นได้ทันที และการทำธุรกิจส่วนตัวก็กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น

จุดเด่นของ ธุรกิจแฟรนไชส์

1. ตราสินค้า (Brand)

“When people use your brand name as a verb, that is remarkable.”
Meg Whitman

“เมื่อผู้คนใช้แบรนด์ของคุณเป็นคำกริยา เช่น ซีร็อกซ์ กูเกิล นั่นแหละ คือ สิ่งที่น่าจดจำ” เป็นคำพูดของ Meg Whitman นักธุรกิจ CEO ของ HP ชาวอเมริกัน

เจ้าของแฟรนไชส์ ได้ทุ่มเทเวลา และทรัพยากร ในการปลุกปั้นตราสินค้าขึ้นมา เพื่อทำให้สินค้าของเค้า มีความแตกต่างจากสินค้าของคนอื่นๆ

เมื่อคุณตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ คุณก็สามารถใช้ตราสินค้าของเจ้าของแฟรนไชส์ได้ทันที ไม่ต้องไปเสียเวลา สร้างตราสินค้าเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำได้สำเร็จหรือเปล่า  ติดปากคนซื้อหรือไม่ เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้เมื่อไหร่

2. ทักษะและวิธีการสร้างธุรกิจ (Know how)

“The true method of knowledge is experiment.”
William Blake

“วิธีการเรียนรู้ที่แท้จริง คือ การลองลงมือทำ” เป็นคำพูดของ William Blake กวี และจิตรกร ชาวอังกฤษ

เหนือสิ่งอื่นใดในการทำธุรกิจ คือ ทักษะและวิธีการสร้างธุรกิจ การซื้อแฟรนไชส์ทำให้เราได้ธุรกิจที่สำเร็จรูป ทำได้ทันที ทำแล้ว work แน่นอน

เพราะคุณไม่ต้องไปเสียเวลาลองผิด ลองถูก และเริ่มต้นใหม่ ตั้งแต่การผลิตสินค้า เลือกทำเล การบริหารจัดการสินค้าในสต็อก หรือแม้แต่การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ของธุรกิจใหม่

3. ง่ายแก่การคุยกับธนาคาร (Easy financing)

“All money is a matter of belief.”
Adam Smith

“เงินนั้น แท้ที่จริงเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ” เป็นคำพูดของ Adam Smith นักปรัชญาบิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ ชาวสก็อต

เงินทุน เป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ แลมีความสำคัญมากต่อการซื้อแฟรนไชส์ เพราะถ้าคุณไม่มีเงินทุน ทุกอย่างก็จบ เนื่องจากคุณไม่มีทั้งไอเดีย และทักษะในการสร้างธุรกิจด้วย แต่วันนี้ถ้าคุณซื้อแฟรนไชส์ คุณอาจจะสามารถเริ่มต้นได้ด้วยเงินทุนที่น้อยกว่าเดิม

ปัจจุบันธนาคารนิยมปล่อยกู้ให้กับ คนที่ซื้อแฟรนไชส์ เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า เจ๊งยากกว่า มีตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นชัดเจนกว่า

4. ทำควบคู่กับอย่างอื่นได้ (Multitasking)

“I don’t feel I’m a compulsive person. I multitask. I’m really well-organised, and I have lots of people to help me.”
Alan Cumming

“ผมไม่รู้สึกว่า ทำอะไรเพราะถูกบีบบังคับ ผมทำหลายต่อหลายสิ่ง พร้อมกัน แล้วผมก็จัดการมันได้เป็นอย่างดี เพราะผมมีคนช่วยเยอะแยะเลย” เป็นคำพูดของ Alan Cumming นักร้อง นักแสดง ผู้กำกับ และนักเขียน ชาวสก็อต

ด้วยความที่ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นระบบธุรกิจที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว คุณจึงเพียงแค่ดูแลธุรกิจห่างๆ เท่านั้น จึงเหมาะสำหรับ คนที่ยังทำงานประจำ หรือประกอบอาชีพอิสระอยู่ เพราะว่าคุณไม่จำเป็นต้องออกจากงานประจำ หรือเลิกอาชีพเดิม

เมื่อคุณซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว คุณก็สามารถจ้างพนักงานมาทำงานในระบบ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ด้วยตัวเอง และคุณก็มีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องสำคัญๆ เท่านั้น หากเป็นธุรกิจส่วนตัวแบบทั่วๆ ไป คุณต้องละทิ้งหน้าที่การงานเดิม และเอาชีวิตทั้งชีวิตมาแลก

จุดด้อยในการทำธุรกิจแฟรนไชส์

1. ไม่ดีอย่างที่คิด (Fake)

Fake is as old as the Eden tree.”
Orson Welles

“ของปลอมมีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ พร้อมกับต้นไม้ในสวน Eden ของพระเจ้าแล้ว” เป็นคำพูดของ Orson Welles นักแสดง ชาวอเมริกัน

การเลือกเจ้าของแฟรนไชส์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะถ้าสินค้าของแฟรนไชส์ยังไม่ดี ก็สามารถพัฒนาได้ หรือถ้าวิธีการทำธุรกิจยังไม่สมบูรณ์ ยังสามารถแก้ไขได้

แต่ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่ดี ตั้งใจเอาเปรียบคนซื้อแฟรนไชส์ มันก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะการซื้อแฟรนไชส์ถูกผูกพันทางกฎหมาย ผ่านทางสัญญาไปแล้ว

2. ไม่มีอำนาจตัดสินใจ (No command)

“Control your own destiny or someone else will.”
Jack Welch

“จงควบคุมโชคชะตาของคุณเอง หรือไม่งั้นคนอื่นก็จะควบคุมมันแทน” เป็นคำพูดของ Jack Welch นักธุรกิจ CEO ของ GE ชาวอเมริกัน

ถ้าคุณคิดว่าแฟรนไชส์ที่คุณซื้อมานั้น สินค้าที่มีอยู่ น่าจะปรับปรุงตรงนั้นนิด วิธีการทำงาน น่าจะปรับปรุงตรงนี้หน่อย คุณก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าอำนาจการตัดสินใจ ในภาพรวมอยู่ที่ เจ้าของแฟรนไชส์

หน้าที่ของคุณมีแค่ ทำตามที่เจ้าของแฟรนไชส์บอกเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์มีเสียงกับการบริหารของเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งอาจจะขาดความคล่องตัวไปบ้าง ในแง่ของคนซื้อแฟรนไชส์

3. ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ (Risky)

“Risk comes from not knowing what you’re doing.”
Warren Buffett

“ความเสี่ยงเกิดจากความไม่รู้ในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่” เป็นคำพูดของ Warren Buffet นักธุรกิจ และปรมาจารย์ด้านการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ชาวอเมริกัน

ความเสี่ยงในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ มันแค่ลดลงจากการทำธุรกิจส่วนตัวทั่วๆ ไป แต่มันก็มีความเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาแทน ซึ่งอาจจะเกิดจากความสะเพร่าของ คนซื้อแฟรนไชส์เอง ที่ไม่มีการหาข้อมูล และไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะซื้อแฟรนไชส์

นั่นคือ การหลับหูหลับตาเลือกเจ้าของแฟรนไชส์ คุณอาจจะเจอเจ้าของแฟรนไชส์หลอกเอา ค้ากำไรกับคุณอย่างหนัก ให้คุณลงทุนมหาศาล แต่แทบจะไม่มีการสอนวิธีการดำเนินธุรกิจใดๆ เลย

4. ใช้เงินลงทุน ค่อนข้างมาก (Big investment)

“An investment in knowledge pays the best interest.”
Benjamin Franklin

“การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ การเรียนรู้” เป็นคำพูดของ Benjamin Franklin รัฐบุรุษ และหนึ่งในแกนนำผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา

การซื้อแฟรนไชส์ไม่ได้เป็นเครื่องการันตี ความสำเร็จในธุรกิจของคุณ การลงทุนมหาศาลไปกับการทำ ธุรกิจแฟรนไชส์ อาจจะไม่ได้ทำให้คุณร่ำรวยเงินทอง ได้อย่างที่คุณคิด

หรือเงินลงทุนที่คุณใช้ไป อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย สินค้าที่คุณอนุญาตให้ขายได้ อาจจะไม่มีศักยภาพ หรือคุณภาพต่ำ วิธีการสร้างธุรกิจที่ได้มา อาจจะใช้ไม่ได้ผลก็เป็นได้

Posts related