ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?

หลายต่อหลายคนอาจจะมองว่า ในยุคปัจจุบันที่ Modern Trade เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในชีวิตประจำวันของเรา แล้วยังมีช่องว่างให้ธุรกิจขายส่ง หรือค้าส่งนั้น ยังมีโอกาสให้เติบโตอีกหรือ เพราะคนมักจะมองว่า มันเป็นธุรกิจประเภทตะวันตกดิน เตรียมตัวเจ๊งอย่างเดียว

แต่ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะด้วยนโยบายและแนวทางการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้น ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME นั่นเอง และ SME ส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ได้เจรจากับเจ้าของสินค้าโดยตรง ยังคงต้องซื้อสินค้าต่อมาจากธุรกิจค้าส่ง อยู่ดี

ธุรกิจค้าส่งนั้น สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจอื่นผ่านทางการเป็น Stock สินค้าให้กับธุรกิจอื่น คงไม่มีธุรกิจ SME ไหนมีคลังสินค้าขนาดใหญ่ เท่ากับธุรกิจค้าส่งอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เรายังได้เห็นธุรกิจค้าส่งมีการปรับตัว และมีรูปแบบใหม่ๆ เช่น เปิดร้านเป็น Modern Trade หรือขยายตัวไปอยู่บนโลก Cyber

รูปแบบของธุรกิจ ขายส่ง

1. ขายส่งแบบดั้งเดิม

นี่เป็นรูปแบบดั้งเดิมของ ธุรกิจ ขายส่ง นั่นคือ เป็นคลังสินค้าขนาดใหญ่ ติดต่อกับเจ้าของสินค้า และรับสินค้ามาจากเจ้าของสินค้า และในอีกทางหนึ่งก็ติดต่อกับพวกร้านค้าปลีก หรือโชห่วยต่างๆ เพื่อกระจายสินค้า อาจจะมีบริการส่งสินค้าไปถึงร้านของลูกค้าด้วยก็ได้

โดยมากขายส่งแบบดั้งเดิม มักจะไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในทำเลที่ดีมาก เพราะการติดต่อกับลูกค้ามักจะเป็นแบบ ธุรกิจกับธุรกิจ หรือ Business to Business (B 2 B) ไม่จำเป็นต้องมีการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากนัก เน้นที่การขายราคาถูก กับส่งของให้ตรงเวลามากกว่า

2. Cash & Carry

ธุรกิจค้าส่งในรูปแบบนี้ จริงๆแล้วก็ไม่ได้เป็นรูปแบบที่ใหม่มากเท่าไหร่ เพราะว่าในต่างประเทศนั้น มีมานานกว่า 40 ปี แล้ว ส่วนในประเทศไทยก็มีมากว่า 40 ปีแล้ว นั่นคือ MAKRO นั่นเอง รูปแบบนี้ เป็นแบบที่เพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหาร หรือโรงแรมต่างๆ ให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้ ในแบบ Modern Trade

แลกกับการที่ธุรกิจแบบนี้จะไม่มีการส่งสินค้าให้ และไม่ให้ถุงใส่อีกตะหาก ให้คุณมาแบกกลับไปเอง และลดราคาให้คุณเพิ่มอีกนิดหน่อย ในฐานะที่ธุรกิจไม่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ ส่วนเรื่องทำเลของค้าส่งแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่ แต่คงไม่ใช่ซอยลึก 10 กิโลเมตรอย่างแน่นอน

เพราะโดยมากก็ยังคงขายสินค้าให้ลูกค้าแบบ Business to Business เป็นส่วนมากเช่นเดียวกับแบบแรก และลูกค้ากลุ่มนี้คงเลือกที่จะซื้อสินค้าโดยใช้เหตุผล มากกว่าอารมณ์ นั่นคือ ใช้ราคาสินค้าเป็นตัวติดสิน

3. ขายส่ง Online

สุดท้ายที่เราจะพูดถึง คือ ขายส่งแบบ Online หลายต่อหลายคนอาจจะยังงงอยู่ว่า ขายส่งจะขายแบบ Online ได้อย่างไร ส่วนผู้ที่รู้จักกับ Website ที่ชื่อ alibaba.com อยู่แล้ว คงจะถึงบางอ้อ และรู้ว่าขายส่งแบบ Online เป็นอย่างไร

alibaba.com เป็น Maketplace ประเภทหนึ่ง เน้นที่การให้คนมาขายส่งผ่าน Website ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีสินค้าอยู่ในมือ และต้องการขายส่ง การเริ่มต้นธุรกิจผ่านทาง alibaba.com ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลว

จุดเด่นของธุรกิจขายส่ง


1. ลูกค้าที่ได้เป็นลูกค้าระยะยาว

เมื่อคุณหาลูกค้าได้คนหนึ่งแล้ว หากเค้าพอใจกับสินค้า บริการ และเครดิตการค้าที่คุณมอบให้ เค้าจะเป็นลูกค้าระยะยาว ที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับคุณ เพราะการเปลี่ยน Supplier ใหม่นั้น สำหรับธุรกิจทั่วไปแล้ว เป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

2. คุยกับธนาคารง่าย

เนื่องจากคุณมีสินทรัพย์อยู่ในมือ นั่นคือ สินค้าที่คุณรับมาจากผู้ผลิต ทำให้คุณสามารถหาเงินทุนหมุนเวียนจากธนาคารได้ง่าย กู้เงินสะดวก สามารถเอาสินค้าที่มีอยู่ในมือ เป็นตัวค้ำประกันได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมจ่ายคืนหนี้ธนาคารด้วยล่ะ

3. บริหารจัดการเรื่องคนง่าย

ธุรกิจค้าส่ง เป็นธุรกิจที่มีการรั่วไหลได้ค่อนข้างยาก และไม่ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือมากนัก เพราะน้ำหนักส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้บริหาร หากพนักงานยกของ หรือเสมียนลาออก ก็หาคนใหม่มาแทนที่ได้ทันที โดยไม่ยาก การซื้อขายก็มีการลงบิล พนักงานจะโกงก็ยาก จะขโมยไปมันก็อยู่ในกล่อง หรือบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่

4. ไม่ต้องใช้เงินมากกับการหาทำเลทอง

เงินลงทุนของธุรกิจนี้ มักจะจมอยู่ที่สินค้าซะมากกว่า การที่คุณจะต้องไปจ่ายค่าเช่าแพงๆ เพื่อเปิดหน้าร้านสวยๆ ที่มีคนเข้าร้านมากๆ ทำให้คุณไม่ต้องปวดหัวกับการหาทำเลที่จะเปิดธุรกิจ เพราะมันเปิดที่ไหนก็ได้ ยิ่งค่าเช่าถูกยิ่งดี เพราะว่าคุณจะได้ไปลดราคาให้กับลูกค้าได้อีก ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจคุณก็สูงตาม

5. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ไม่ต้องทำมาก

ธุรกิจค้าส่ง วัดกันที่ การบริหารจัดการล้วนๆ การตลาดมีความเกี่ยวข้องน้อยมาก เพียงแค่ราคากับบริการล้วนๆ ไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างนักการตลาดมือทองมาร่วมงานกับคุณก็ได้ ต้นทุนถูกไว้ก่อนก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของ ธุรกิจ ขายส่ง

1. สายสัมพันธ์กับผู้ค้าปลีก

“A leader who loses his connection to his people soon loses the ability to lead them.”
Robert Ley

“ผู้นำที่สูญเสียสายสัมพันธ์กับคนของเค้า อีกไม่นานคงต้องสูญเสียความสามารถที่จะนำลูกน้องไปด้วย” เป็นคำพูดของ Robert Ley นักการเมือง และนักการทหาร ชาวเยอรมัน

สายสัมพันธ์กับร้านค้าปลีก เป็นเหมือนกับเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจค้าส่ง เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคงไม่ใช่ คนที่ซื้อ 1-2 ชิ้น เพื่อเอาไปใช้เอง แต่ต้องเป็นคนที่ซื้อครั้งหนึ่ง เป็นร้อยๆ ชิ้น เพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งกลุ่มลูกค้านี้ ย่อมเป็นลูกค้าธุรกิจค้าปลีก จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้

2. การบริหาร Stock สินค้า

“We want to turn our inventory faster than our people.”
James Sinegal

“เราอยากให้สินค้าในมือของเราหมุนเร็วกว่า การลาออกของพนักงาน” เป็นคำพูดของ James Sinegal นักธุรกิจ ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง Costco ร้านค้าส่งแบบ Cash & Carry

หัวใจสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตาย ธุรกิจขายส่งนั้น คือ การบริหารสินค้าที่มีอยู่ในมือ ให้หมุนเร็ว และไม่อยู่ค้าง Stock เพราะสินค้าที่อยู่ค้าง Stock จะกลายเป็นสินค้าเก่า ล้าสมัย หรือขายยาก ทำให้ขาดทุนได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสินค้าเป็นแบบเน่าเสียง่าย หรือล้าสมัยเร็ว ยิ่งต้องทำให้สินค้าหมุนได้เร็ว

3. การบริหารเงินสดในมือ

“In the business world, everyone is paid in two coins: cash and experience. Take the experience first; the cash will come later.”
Harold S. Geneen

“ในโลกธุรกิจนั้น เราได้รับผลตอบแทนใน 2 รูปแบบ คือ เงินสด กับประสบการณ์ จงเลือกที่จะได้รับประสบการณ์ก่อน แล้วเงินสดจะตามมาเอง” เป็นคำพูดของ Harold S. Geneen นักธุรกิจ ชาวอังกฤษ

ธุรกิจ ขายส่ง ไม่เหมือนกับ ธุรกิจอื่นๆ ที่รับเงินสดตั้งแต่ตอนที่ ส่งสินค้าหรือบริการถึงมือลูกค้า ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะขอเครดิตการค้า หรือจ่ายช้าออกไป อาจจะ 30-90 วัน และอย่างที่ทุกคนรู้ว่า ธุรกิจอยู่ได้ด้วยเงินสด ถ้าดูเลการรับจ่ายเงินไม่ได้ หมุนไม่ทัน ก็เตรียมตัวเจ๊งได้เลย

Posts related