ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?

คุณอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศไทยนั้น มียอดการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด ในแต่ละปี อยู่ในอัตราที่สูงมาก คิดเป็น 80% ของ รายได้ประชาชาติ (GDP) เลยทีเดียว เพราะต่างชาติต่างรับรู้ว่า ฝีมือแรงงานไทยนั้นดี และราคาถูก

ถึงแม้จะไม่ถูกเท่า ประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างเวียดนาม กัมพูชา หรือจีน แต่ก็คุ้มเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพของงานที่ได้รับ อีกทั้งประเทศไทย ยังมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ที่ได้เปรียบ และดีที่สุดในภูมิภาค ASEAN เลยทีเดียว เพราะอยู่ตรงกึ่งกลางของภูมิภาค และมีทางออกทางทะเลทั้งสองด้าน นั่นคือ ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ธุรกิจส่งออก เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และน่าลงทุน สุดท้ายอีกเหตุผลหนึ่งที่ ธุรกิจส่งออกจะโตได้อีกมาก คือ กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศเหล่านี้มักจะนำเข้าสินค้า จากประเทศไทย เข้าไปเป็นส่วนใหญ่

บวกกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ด้วย ทำให้ภาษีนำเข้า ที่เคยเกิดขึ้นก็หายไป ทำให้ขีดความสามารถ ของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น

รูปแบบของธุรกิจส่งออก

1. บริการขนส่ง หรือ Shipping

รูปแบบนี้ บางคนอาจจะมองว่า เป็นการจับเสือมือเปล่า เพราะใช้ประโยชน์จากการที่มีสินค้าขนส่งออกไปนอกประเทศไทยเยอะ ฉะนั้นถ้าเราขายพื้นที่ขนส่งสินค้าบนเรือ ก็คงจะดี ธุรกิจนี้จึงมักจะใช้เงินลงทุนที่ไม่สูง และเห็นคนเปิดธุรกิจนี้ได้ทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะเคยอยู่กับบริษัท Shipping มาก่อน และดึงลูกค้า จากที่ทำงานเก่ามา ให้ใช้บริการกับตน

2. ธุรกิจส่งออกทั่วไป

ธุรกิจส่งออกทั่วไป คือ ธุรกิจที่มีการผลิตสินค้าของตัวเอง หรือรับสินค้ามาจากบริษัทอื่น และอาศัยสายสัมพันธ์ กับบริษัทต่างชาติ ในการขายสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญ คือ คุณภาพของสินค้าที่ส่งออกไป และการปฏิบัติตาม L/C (Letter of Credit) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ออกโดยลูกค้า ที่ส่งผ่านมาทางธนาคาร

3. ธุรกิจส่งออกผ่าน Internet

ธุรกิจส่งออกผ่าน Internet เป็นรูปแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่การใช้ Internet ทั่วโลกแพร่หลาย ซึ่งก็เป็นธุรกิจ Internet รูปแบบหนึ่ง แต่เน้นไปที่ลูกค้าต่างประเทศ ที่มีกำลังซื้อสูงกว่าประเทศไทย และต้องทำ Website เป็นภาษาอังกฤษ หรือนำสินค้าไปขายใน Marketplace ต่างๆ เช่น eBay เป็นต้น

จุดเด่นของธุรกิจส่งออก


1. ลูกค้าที่ได้เป็นลูกค้าระยะยาว

ลูกค้าที่ซื้อสินค้า หรือใช้บริการของคุณ แล้วพึงพอใจกับสินค้า บริการ และเครดิตการค้าที่คุณมอบให้ เค้าจะเป็นลูกค้าระยะยาว ที่ซื่อสัตย์ และจงรักภักดีกับคุณ เพราะการเปลี่ยน Supplier ใหม่นั้น สำหรับธุรกิจทั่วไปแล้ว เป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

2. คุยกับธนาคารง่าย

เนื่องจากคุณมีสินทรัพย์อยู่ในมือ นั่นคือ L/C ที่คุณรับมาจากลูกค้า ทำให้คุณสามารถหา เงินทุนหมุนเวียน จากธนาคารได้ง่าย กู้เงินสะดวก สามารถเอาสัญญา มาเป็นตัวค้ำประกันได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมจ่ายคืนหนี้ธนาคารด้วยล่ะ

3.ได้ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นทำเล และแรงงานที่มีฝีมือ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบชาติอื่น ในเรื่องการส่งออก เพราะฉะนั้นธุรกิจส่งออก และธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้อง ย่อมจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

4. ไม่ต้องใช้เงินมากกับการหาทำเลทอง

เงินลงทุนของธุรกิจนี้ มักจะจมอยู่ที่สินค้าซะมากกว่า การที่คุณจะต้องไปจ่ายค่าเช่าแพงๆ เพื่อเปิดหน้าร้านสวยๆ ที่มีคนเข้าร้านมากๆ ทำให้คุณไม่ต้องปวดหัว กับการหาทำเลที่จะเปิดธุรกิจ เพราะมันเปิดที่ไหนก็ได้ ยิ่งค่าเช่าถูกยิ่งดี เพราะว่าคุณจะได้ไปลดราคาให้กับลูกค้าได้อีก ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจคุณก็สูงตาม

5. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ไม่ต้องทำมาก

ธุรกิจส่งออกนั้น วัดกันที่ การเจรจาธุรกิจล้วนๆ การตลาดมีความเกี่ยวข้องน้อยมาก เพียงแค่ราคากับบริการล้วนๆ ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน เพื่อจ้างนักการตลาดมือทอง มาร่วมงานกับคุณก็ได้ ต้นทุนถูกไว้ก่อนก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของ ธุรกิจส่งออก

1. สายสัมพันธ์กับลูกค้า

“Communication – the human connection – is the key to personal and career success.”
Paul J. Meyer

“การสื่อความ หรือการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น เป็นกุญแจสำคัญสำหรับความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือหน้าที่การงาน” เป็นคำพูดของ Paul J. Meyer นักธุรกิจ ชาวอเมริกัน

สายสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นเหมือนกับเส้นเลือดใหญ่ ของธุรกิจส่งออก เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคงไม่ใช่ คนที่ซื้อ 1-2 ชิ้น เพื่อเอาไปใช้เอง แต่ต้องเป็นคนที่ซื้อครั้งหนึ่ง เป็นร้อยๆ ชิ้น เพื่อนำไปขายต่อ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้

2. สนิทกับนายธนาคารไว้

“A bank is a place that will lend you money if you can prove that you don’t need it.”
Bob Hope

“ธนาคาร เป็นที่ๆ ให้คุณกู้เงิน เมื่อคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่า คุณไม่ต้องการมัน” เป็นคำพูดของ Bob Hope นักแสดงตลก ชาวอเมริกัน

L/C เป็นหนึ่งในสิ่งค้ำประกันเงินกู้ที่ดีที่สุด เท่าที่คุณจะหาได้ โดยไม่ต้องใช้หลักประกันอะไรของคุณเลย ธนาคารก็ชอบที่จะให้เงินกู้กับคนที่มี L/C เพราะเมื่อเค้าปฏิบัติตาม L/C จัดส่งสินค้าได้ตามที่บ่งบอกไว้ใน L/C เค้าก็จะได้เงินทันที และธนาคารก็สามารถหักเงินที่เค้าได้รับ และให้ส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นกำไรแก่ธุรกิจ

ฉะนั้น ตีซี้กับธนาคารไว้ เพื่อใช้เงินสินเชื่อที่ได้จาก L/C ไปผลิตหรือซื้อสินค้า เพื่อส่งให้แก่ลูกค้า แล้วเก็บเงินสดไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในเวลาฉุกเฉินจะดีกว่า

3. ป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

“Risk comes from not knowing what you’re doing.”
Warren Buffett

“ความเสี่ยงมาจากการไม่รู้ในสิ่งที่คุณทำอยู่” เป็นคำพูดของ Warren Buffet นักธุรกิจ และยอดนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ชาวอเมริกัน

ธุรกิจส่งออก เป็นธุรกิจที่ส่วนใหญ่แล้ว จะได้รับเงินจากลูกค้า ในรูปของเงินสกุลต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ดอลลาร์สหรัฐ เยนญี่ปุ่น ยูโร หรือเงินหยวนของจีน ก็ตาม เงินตราต่างประเทศเหล่านี้ มีความผันผวนในตัวของมันเอง ถ้าเราไม่ควบคุมความเสี่ยง ด้วยการซื้อ Forward เงินตราต่างประเทศกับธนาคาร ไว้ล่วงหน้า

ย่อมจะสุ่มเสี่ยงกับการขาดทุนเป็นอย่างมาก บางทีคุณอาจจะพบว่า ทำงานหนัก สายตัวแทบขาด สุดท้ายขาดทุนย่อยยับ คงจะไม่ใช่เรื่องสนุกของคุณเลยทีเดียว ฉะนั้นวิธีควบคุมความเสี่ยงง่ายๆ ก็คือ การเดินไปที่ธนาคาร แล้วบอกเค้าว่า “ขอซื้อ Forword สำหรับวันที่ได้รับชำระเงิน” เท่านั้น ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของคุณ ก็จะหมดไป

Posts related