เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” แต่ส่วนใหญ่จะขาดโอกาสที่ดี เช่นเดียวกับการขาดโอกาสในการพัฒนาบุคลากรป้อนตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ปัจจุบันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ถือว่ามีความสำคัญในด้านธุรกิจแทบทุกธุรกิจ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้วยังช่วยประหยัดระยะเวลาและทรัพยากรบุคคลด้วย แต่สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือ “ขาดบุคลากรผู้ผลิตซอฟต์แวร์” ที่มีคุณภาพ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัจจุบัน มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 56 จะมีมูลค่าการผลิตอยู่ที่ 39,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่ 22.2% ในขณะที่ ปี 57 จะมีมูลค่าประมาณ 44,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% ขณะที่ซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว ปี 56 จะมีมูลค่าการผลิตอยู่ที่ 4,886.7 ล้านบาท และปี 57 จะมีมูลค่าการผลิตอยู่ที่ 5,864 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ได้จำแนกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 7,962 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 35.5% และบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 31,134 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 19.3% โดยการเติบโตที่ต่อเนื่องของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงเติบ โตอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมี การใช้ไอซีทีเพิ่มมากขึ้น และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิต ภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น นอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายแล้วยังพบว่าในปี 55 มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ภายในองค์กร (in-house) อย่างน้อย 686.3 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 54 อยู่ที่ 12.2% ในด้านการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นั้น ประเทศไทยยังคงมีการส่งออกไม่มากนัก โดยในปี 55 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 817 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.6% ของมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ทั้งหมด จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 242 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ 575 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวค่อนข้างมาก โดยในปี 55 มีมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว 1,742 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 41.3% ของมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวทั้งหมด นายสมเกียรติ เล่าว่า ถึงแม้ว่ามูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์ของไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยยังขาดบุคลากรด้านซอฟต์ แวร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดหลักสูตร ภาคการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยภาพรวมในปีนี้ยังมีอัตราการขาดแคลนสูงถึง 8,000 คน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ซิป้า เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศ ไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศ การ (องค์การมหาชน) ควรจัดหลัก สูตรในสถานศึกษาเพื่อป้อนตลาดซอฟต์แวร์ไทย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำ ปั้นบุคลากรซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพให้เพียงพอ เชื่อว่ามูลค่าการผลิต การส่งออกซอฟต์แวร์ไทยจะมีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นผลผลักดันให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นตามมาด้วย. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ปั้นนักผลิตซอฟต์แวร์…กระตุ้นจีดีพีประเทศ

Posts related