เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้พบบทความหนึ่งกล่าวถึงการใช้พาสเวิร์ดหรือรหัสผ่านในการพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผมไม่เคยนึกถึงมาก่อน ผู้อ่านสามารถอ่านบทความนี้โดยค้นหาจากกูเกิลว่า “how a password changed my life”  ดังนั้น ผมจะเล่าเทคนิคในการใช้พาสเวิร์ดเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองที่ผู้เขียนบทความนี้แนะนำครับ ในแต่ละวัน เราอาจป้อนพาสเวิร์ดหลายครั้ง เช่น อีเมล เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เราสมัครสมาชิกไว้ ดังนั้น ถ้าเราใช้ข้อความพิเศษบางอย่างเป็นพาสเวิร์ด ก็หมายความว่า ทุกครั้งที่เราป้อนพาสเวิร์ด เรากำลังนึกถึงข้อความพิเศษนั้น ตัวอย่างของข้อความพิเศษในที่นี้คือ เป้าหมายหรือนิสัยที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง หนังสือด้านการพัฒนาตนเองจำนวนมากแนะนำว่า ถ้าเราต้องการบรรลุเป้าหมายเรื่องใดก็ตาม เราควรนึกถึงหรือเขียนเป้าหมายนั้นบ่อย ๆ เพื่อเตือนใจและกระตุ้นตัวเรา  อีกวิธีหนึ่งที่หนังสือหลายเล่มแนะนำคือ บางคนใช้วิธีนึกเป็นภาพในใจ แล้วนึกถึงภาพนั้นอย่างสม่ำเสมอ เทคนิคนี้เรียกว่า จินตภาพ (visualization) การสร้างจินตภาพก็ทำให้เรามุ่งมั่นกับเป้าหมายหรือนิสัยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน นักกีฬาดัง ๆ ระดับโลกหลายคนใช้จินตภาพในการเตรียมพร้อมก่อนการแข่งขันครับ  เมื่อเรานำพาสเวิร์ดมารวมกับ เป้าหมายหรือการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการให้เกิดขึ้น ก็เท่ากับว่า ทุกครั้งที่เราพิมพ์พาสเวิร์ดเข้าในคอมพิวเตอร์  พาสเวิร์ดนี้จะกลายเป็นสิ่งเตือนใจให้เรานึกถึงเป้าหมายหรือนิสัยที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงนั่นเองครับ แต่เนื่องจากเราต้องเก็บพาสเวิร์ดเป็นความลับและไม่ให้ผู้อื่นคาดเดาได้ การใช้พาสเวิร์ดที่เป็นข้อความเป้าหมายโดยตรงจึงยังไม่ปลอดภัย เราจึงต้องใช้หลักการตั้งพาสเวิร์ดที่เหมาะสมคือ มีความยาวไม่น้อยกว่า 6 ตัวอักษร (ปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์หลายแห่งบังคับว่า พาสเวิร์ดต้องยาวไม่น้อยกว่า 8 ตัวอักษร)  มีทั้งอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก ตัวเลข อักขระพิเศษผสมกัน และเจ้าของต้องจดจำได้ง่ายโดยไม่ต้องเขียน แต่ผู้อื่นเดาไม่ออก  ดังนั้นถ้าเรามีเป้าหมาย นิสัยที่ต้องการเปลี่ยนหรือสร้างใหม่  เราก็ใช้เป้าหมายหรือนิสัยที่ต้องการเปลี่ยนเป็นพาสเวิร์ดที่ปลอดภัยของเราครับ แต่เราไม่ควรใช้พาสเวิร์ดเหมือนกันในทุกเว็บไซต์ ดังนั้น ควรตั้งพาสเวิร์ดที่หลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละแห่งด้วยเช่นกันครับ ผมขอยกตัวอย่างสองข้อเพื่อให้เห็นชัดเจนดังนี้ครับ  1. นักเรียนชั้นม.6 คนหนึ่งต้องการเรียนมหาวิทยาลัยในปีค.ศ. 2015 ซึ่งเด็กคนนี้เขียนเป้าหมายในกระดาษว่า “Study University 2015” แต่นักเรียนคนนี้ติดเฟซบุ๊กมาก ซึ่งเขาทราบดีว่า ควรใช้เวลาในการอ่านหนังสือมากกว่าเล่นเฟซบุ๊ก เขาจึงอยากตั้งพาสเวิร์ดในเฟซบุ๊กให้นึกถึงการเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของเขา แต่เขาไม่ใช้ข้อความนี้เป็นพาสเวิร์ดโดยตรง เพราะผู้อื่นอาจเดาได้   ดังนั้นนักเรียนคนนี้จึงตั้งพาสเวิร์ดให้ซับซ้อนว่า 2StudY0University15!เพื่อที่ว่าทุกครั้งที่เขาป้อนพาสเวิร์ดเข้าเฟซบุ๊ก  เขาจะนึกถึงเป้าหมายนี้ และใช้เวลาในการเล่นเฟซบุ๊กน้อยลง จะได้มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้นครับ 2. พนักงานทำงานคนหนึ่งมีน้ำหนักเกินมาตรฐานและต้องการลดน้ำหนักด้วยการลดอาหารไขมัน และรับประทานผัก สลัด ผลไม้ให้มากขึ้น เป้าหมายของเธอคือ Eat Salad Fruit ดังนั้นเธอจึงตั้งพาสเวิร์ดว่า /Eat$aladFruit^3  เพื่อเป็นการเตือนใจตัวเองให้รับประทานสลัดและผลไม้สามมื้อครับ หลังจากที่ตั้งพาสเวิร์ดแล้ว เราควรทดสอบความปลอดภัยของพาสเวิร์ดอีกครั้งด้วยโปรแกรม password meter ซึ่งเป็นโปรแกรมวัดความแกร่งของพาสเวิร์ดและมีให้เลือกใช้มากมายในอินเทอร์เน็ตครับ ผมลองใช้เทคนิคนี้กับตัวเองประมาณหนึ่งเดือน ก็พบว่า ทุกครั้งที่ผมป้อนพาสเวิร์ด ก็จะนึกถึงเป้าหมายนี้เสมอและกระตุ้นให้ตนเองทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการครับ  ดังนั้นผู้อ่านอาจทดลองใช้กับตนเองว่า เทคนิคนี้ใช้ได้ผลหรือไม่ประการใด  แต่การจะเห็นผลลัพธ์จากเทคนิคนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรครับ หนังสือจิตวิทยาหลายเล่มบอกว่า การจะสร้างนิสัยใหม่หรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 21 วันขึ้นไป ดังนั้นควรทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสักหนึ่งเดือนขึ้นไปครับ การใช้เป้าหมายหรือนิสัยที่ต้องการสร้างเป็นพาสเวิร์ดคือจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือสร้างนิสัยใหม่ที่พึงปรารถนา  และเมื่อเราทำสำเร็จแล้ว เราจึงประกาศได้อย่างแท้จริงว่า ฉันเปลี่ยนชีวิตด้วยพาสเวิร์ด !. อาจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Thongchai.R@chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เปลี่ยนชีวิตด้วยพาสเวิร์ด – 1001

Posts related