นับว่าในปัจจุบันหลายคนคงรู้จักกับคำว่า “สมาร์ทโฟน” ที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมไอที ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญ  เนื่องจากพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า สมาร์ทโฟนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ยิ่งกว่าจรวด โดยพบตัวเลขปี 2556 มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 6,700 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นใช้งานสมาร์ทโฟน 5,600 ล้านคน และใช้งานแท็บแล็ต 750 ล้านคน    ในปีนี้ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านเครื่อง เพิ่มจากในปี 2555 ถึง 60% คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มเป็น  9,300 ล้านคน  ดังนั้นเมื่อความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณดาต้า (ข้อมูล) ก็เติบโตตาม คาดว่าในปี 2562 ปริมาณดาต้าจะเพิ่มสูงเป็น 10 เท่า มาจากปัจจัยหลัก ๆ ที่หนีไม่พ้น คือจำนวนสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น การเติบโตด้านคอนเทนต์หรือเนื้อหา และการใช้บริการวิดีโอสูงขึ้นมากกว่า 50% ต่อปี ผนวกกับความเร็วของเครือข่ายที่เริ่มพัฒนาเข้าสู่ 3 จี และ 4 จี ตามลำดับของเทคโนโลยี นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายการ สื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พบโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยต้องคำนึงคือ การวางแผนให้บริการครอบคลุมพื้นที่ให้มีการใช้งานดาต้าบนมือถือมากที่สุด เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้การใช้งานผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป คือ ผู้ใช้งานจะไม่สนใจขีดสัญญาณโทรศัพท์มือถือว่าจะขึ้นเต็มหรือไม่เต็ม แต่จะดูแบนด์วิธ ที่ส่งมายังโทรศัพท์มือถือว่า เพียงพอต่อการใช้อินเทอร์เน็ตหรือไม่  อย่างไรก็ตามประเทศไทยกำลังเริ่มที่จะประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่หมดสัญญาสัมปทานร่วมกับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน ซึ่งหมดอายุสัญญาสัมปทานแล้ว และตามด้วยการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานจนถึงปี 2558 และประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานจนถึงปี 2561 ซึ่งทั้งหมดนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค. ) จะเรียกคืนกลับมาจัดสรรผ่านรูปแบบการประมูล 4 จี ภายหลังหมดอายุสัมปทาน เพื่อสร้างถนนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รองรับการใช้งานต่อไป นี่คือการบ้านของอุตสาหกรรมโทร คมนาคมที่ต้องตอบสนองพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภค. สุรัสวดี สิทธิยศ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คนใช้สมาร์ทโฟนพุ่ง เฉียดหมื่นล้านรายใน5ปี

Posts related