นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันที่ 23 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการแอคชั่นแพลน ยกเครื่องประเทศไทย เข้าสู่การพิจารณาของครม. โดยเป็นการใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท จากโครงการไทยเข้มแข็งที่เบิกจ่ายไม่ทัน ไปใช้ในโครงการปรับปรุงถนน ระบบชลประทาน และเรื่องที่จำเป็น เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งจะเป็นการเบิกจ่ายวงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สามารถตรวจสอบได้ และเห็นผลได้ดีกว่า ทั้งนี้ งบประมาณยกเครื่องประเทศไทย จะใช้เงินไทยเข้มแข็งที่เหลืออยู่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม และการเบิกจ่ายจะไม่ทำแบบชุ่ย ๆ แต่จะเร่งเบิกจ่ายให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศ ในโครงการที่จำเป็น โดยแผนยกเครื่องประเทศไทยยังรวมถึงการเร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เร่งปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีให้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการใช้เงินของแต่ละแบงก์รัฐเอง และไม่ต้องตั้งงบประมาณอุดหนุน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ก็ต้องมีนโยบายเชิงรุก ในการเข้าหาลูกค้าที่ต้องการวงเงินสินเชื่อให้มากขึ้น และช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดย่อมในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังให้มีเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 และงบเหลื่อมปีที่ค้างอยู่ให้เร็วที่สุด รวมถึงงบประมาณปี 58 ที่ทำได้ง่ายให้เร่งรัดการเบิกจ่ายทันที ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ส่วนการกำหนดกรอบเงินเฟ้อเพื่อดูแลบริหารเศรษฐกิจยังไม่มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังไม่ถึงเวลาที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ ขณะที่เรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะหมดในปี 59 ยังไม่ขออธิบายในเรื่องนี้ สำหรับนโยบายภาษี ในส่วนของร่างพ.ร.บ.เก็บภาษีมรดกที่รัฐบาลพิจารณาอยู่จะเก็บภาษีเพียงอัตราเดียว 10%  ไม่ได้เก็บหลายอัตราตามอย่างที่มีคนกังวลว่า รัฐบาลจะเก็บภาษีมรดกสูงถึง 20-30% ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริง เพราะได้ข้อสรุปกันมานานแล้วว่าจะเก็บอัตราเดียว 10% เนื่องจากเป็นอัตราที่มีการพิจาณาแล้วเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป นอกจากนี้ การเก็บภาษีมรดกยังเป็นเก็บมรดกสุทธิและเก็บมรดกมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นการเก็บจากผู้รับมรดก เช่น เจ้าของมรดกให้มรดกกับทายาท 60 ล้านบาท ทายาทก็เสียภาษีมรดก 10% ของ 10 ล้านบาท ที่เกินจาก 50 ล้านบาท หรือ เสียภาษีเท่ากับ 1 ล้านบาท เท่านั้น ขณะเดียวกรณีนี้ หากเจ้าของมรดกมีหนี้อยู่ 20 ล้านบาท ก็ต้องนำมรดก 60 ล้านบาท มาหักออกก่อนเหลือ 40 ล้านบาท ที่เป็นมรดกให้กับทายาท ซึ่งก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท นายสมหมาย กล่าวว่า การออกภาษีมรดกเป็นเรื่องอันดับแรกที่รัฐบาลจะทำ หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องการออกพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมาใช้เก็บแทน ภาษีบำรุงท้องที และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะให้เวลาปรับตัวอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี  และไม่กระทบกับอย่างที่หลายฝ่ายกังวล  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คลังชงครม.ไฟเขียวยกเครื่องประเทศไทย

Posts related