และแล้ว…คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้คืนความสุขให้คนไทยอีกระลอก โดยเฉพาะบรรดาลูกหนี้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบ หรือหนี้นอกระบบ เพราะล่าสุดที่ประชุมคสช. เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ได้เห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้…พ.ศ… เพื่อคุ้มครองลูกหนี้ในการติดตามทวงถามหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรม  รวมถึงร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ซึ่งเป็นกฎหมาย 2 ใน 5 ฉบับ ที่คสช.เห็นชอบแล้วว่า ควรนำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นลำดับแรก ๆ เพื่อให้กฎหมายคลอดออกมาบังคับใช้อย่างจริงจังโดยเร็วที่สุด  ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจตกสะเก็ด บรรดารากหญ้า ผู้ใช้แรงงาน หรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือน ต่างต้องประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง มีเงินไม่พอใช้ แม้ว่ารายได้ขั้นต่ำจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าก็พุ่งทะยานนำหน้าไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงนิสัยส่วนตัวที่นิยมวัตถุ แถมยังมีปัญหาอีกสารพัดหมักหมม สุดท้าย…อดรนทนไม่ไหวต้องยอมจำนนอยู่ในภาวะ “ลูกหนี้”  หนี้เสียบัตรเครดิตพุ่ง  ที่สำคัญ “ลูกหนี้” เหล่านี้ ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดปัญหาในระบบการเงิน เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้  (เอ็นพีแอล)ของบัตรเครดิต ไตรมาสแรก ปี 57 นั้น พบว่ามียอดหนี้เพิ่มขึ้นถึง 687 ล้านบาท ทำให้ยอดหนี้คงค้างเพิ่มเป็น 7,324 ล้านบาท ด้วยความที่ว่า ลูกหนี้แต่ละคนก็นิยมมีบัตรเครดิตหลายใบ เพื่อใช้ “หมุนเงิน” ใช้ไปใช้มา เกินกำลัง ไม่มีเงินมาใช้หนี้ แม้ว่าจะมีอยู่เพียง 30% ของบัตรเครดิตทั้ง 18 ล้านใบก็ตาม แต่ก็ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ต้องผ่อนชำระหนี้ ที่จำเป็นต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด ก่อนจะกลายเป็นหนี้เน่า หรือไม่มีเงินชำระหนี้ในที่สุด จนส่งผลกระทบต่อครอบครัวและการทำงานของลูกหนี้ ขณะเดียวกัน สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้…ก็คือเรื่องราวของการทวงเงินลูกหนี้ ที่พบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา “ลูกหนี้” มักได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม โดยข้อมูลของศูนย์คุ้มครองผู้ ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เมื่อปี 56 พบว่า มีประชาชนกว่า 499 ราย ที่เข้ามาร้องเรียนบริการทางการเงิน ซึ่งประเด็นที่ร้องเรียนบ่อย ได้แก่ พฤติกรรมการทวงหนี้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ ทวงถามกับบุคคลที่สามทวงถามในเวลาและความถี่ที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย ไม่ให้เกียรติลูกหนี้  ตลอดเวลาที่ผ่านมา บรรดาผู้ประกอบการและผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ ต่างคุกคามสิทธิของลูกหนี้ “อย่างไม่ให้เกียรติ” โดยเฉพาะลูกหนี้ของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะสารพัดของวิธีการทวงหนี้ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเปิดเผยรายชื่อ ด้วยการลงประกาศชื่อเปิดเผยตัวตน ทำให้เสียชื่อเสียง หรือการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สิน เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ รวมทั้งยังมีการข่มขู่ ฟ้องร้องกล่าวหาลูกหนี้  รวมไปถึงการโทรศัพท์ไปทวงหนี้หลายครั้ง แถมยังใช้ภาษาหยาบคาย ข่มขู่ ดูหมิ่น แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีแนวปฏิบัติ สำหรับการติดตามทวงถามหนี้ ให้กับบรรดาสถาบันการเงิน หรือที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ให้ดำเนินการก็ตาม แต่แนวทางปฏิบัติ ก็คือแนวทางปฏิบัติ ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ “ลูกหนี้” จึงถูกรุมย่ำยี ถูกทำลายชื่อเสียง จนกลายเป็นที่มาของการยกร่างกฎหมายทวงถามหนี้เกิดขึ้น และได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อเดือน ส.ค. 56 ที่ผ่านมา เพื่อคุ้มครอง ดูแลลูกหนี้ ให้ได้รับการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม  แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้กฎหมายฉบับนี้ต้อง “ค้างเติ่ง” อยู่นาน ไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้                        คุมเข้มบริษัททวงหนี้  อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ ได้มีสาระสำคัญ ทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้อง พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข รายละเอียด ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการทวงหนี้ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะวิธีการทวงถามหนี้ และข้อห้ามการทวงถามหนี้ ซึ่งหากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ข้อห้าม ตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด จะมีโทษทางอาญา โดยปรับไม่เกิน 100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ  โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกำกับคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ และมีอำนาจหน้าที่ดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ทวงถามหนี้ กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ทั้งโทษทางปกครอง และโทษทางอาญา กำหนด 5 ข้อห้าม  นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายนั้น มีทั้งหมด  5 ข้อ ได้แก่ ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ติดต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้,  ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ อาทิ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การเปิดเผยความเป็นหนี้ของผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง  การติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ, ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในการติดตามทวงหนี้ เช่น ทำให้เข้าใจว่า เป็นการกระทำของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี รัฐ หน่วยงานของรัฐ ทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย ทำให้เชื่อว่า หากไม่ชำระหนี้จะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน เว้นแต่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ข่มขู่ว่าจะดำเนินการใด ทั้งที่ไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ยังห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม อาทิ เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เว้นแต่ได้มีการตกลงไว้ล่วงหน้า ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยทางไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก หรือโทรสาร ใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการติดตามทวงถามหนี้  ส่วนการติดต่อกับลูกหนี้นั้น ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยได้พยายามตามสมควรแล้ว ให้ถือเอาสถานที่ติดต่ออื่น เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการติดต่อได้, สำหรับการติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร ปกป้องคนค้ำประกัน  ส่วนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 1 พ.ศ. เรื่องผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง นั้นก็เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง เนื่องจาก      ปัจจุบันเปิดช่องให้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ที่เป็นสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการให้กู้ยืมเงิน ใช้อำนาจต่อรองที่สูงกว่า หรือใช้อำนาจความได้เปรียบทางการเงิน ด้วยการบังคับให้ผู้ค้ำประกัน และผู้จำนอง ต้องรับผิดชอบเสมือนลูกหนี้เป็นอันดับแรก และมักฟ้องร้องผู้ค้ำประกัน และผู้จำนอง เนื่องจากมีฐานะดีกว่า ดังนั้น จึงต้องแก้ไขกฎหมาย ให้บังคับภาระหนี้กับลูกหนี้โดยตรง เป็นอันดับแรก เพื่อให้การบังคับหลักประกันนั้นเป็นไปตามระบบที่ถูกต้อง ผลดีมากกว่าผลเสีย  “กฎหมายทวงหนี้” เป็นกฎหมายที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะช่วยดูแลลูกหนี้ และยังสามารถบังคับใช้เป็นการทั่วไปได้ ผูกพันต่อศาลที่ต้องใช้กฎหมายนี้บังคับ และกำหนดช่วงเวลาทวงหนี้ เพื่อไม่ให้ไปทวงกันยามค่ำคืน, การรักษาความลับของลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ คุกคาม หลอกลวง หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ที่ได้บรรจุในกฎหมายอย่างละเอียดขึ้น ทั้งการให้ลูกหนี้กำหนดสถานที่ที่ตนต้องการให้ติดต่อ ห้ามผู้ทวงหนี้ใช้ชื่อว่าเป็นทนายความ ทั้งที่ไม่ใช่ ห้ามหลอกลวง ว่าจะยึดหรืออายัดทรัพย์ ถ้าไม่มีอำนาจ หรือติดต่อกับบุคคลอื่น ต้องให้ลูกหนี้ระบุบุคคลที่ยินยอมให้ติดต่อด้วย ขณะเดียวกัน ยังกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย สำหรับการปราบปรามนักทวงหนี้ที่ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง คือ ทั้งโทษจำคุก และการปรับเงิน แต่หากกรณีที่เป็นคดีอาญา อัยการก็สามารถเรียกค่าเสียหายแทนลูกหนี้ได้ ดังนั้น ถ้ามีการทวงหนี้ แล้วคนที่ทวงหนี้ทำความเสียหาย ลูกหนี้ก็สามารถขอให้อัยการเรียกร้องค่าเสียหายแทนได้ เรียกได้ว่า…กฎหมายทวงหนี้ฉบับนี้ ได้คุ้มครองลูกหนี้อย่างแท้จริง แต่หากเข้าไปดูให้ลึก ๆ แล้ว บรรดาลูกหนี้ที่อยู่ในระบบคงไม่ได้รับความเดือดร้อน เพราะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่บรรดาลูกหนี้นอกระบบที่มีอยู่อีกเกือบ 2 ล้านรายนั้น ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงไม่แปลก ที่มักจะเห็นข่าวคราวลูกหนี้นอกระบบถูกทำร้ายแบบ “เจียนตาย” อยู่บ่อยครั้ง เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่อง…ที่รอคอย คสช.แก้ไข เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในสังคมอย่างเท่าเทียม!  วุฒิชัย มั่งคั่ง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชำแหละกฎหมายทวงถามหนี้ คืนความสุขคนไทยอีกระลอก

Posts related