ด้วยสัจธรรม…ที่ว่าพลังงานธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้อำนวยความสะดวกทุก ๆ วันนั้นย่อมมีวันหมดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานประเภท “น้ำมัน” จึงกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้มนุษย์คิดค้น “พลังงานทดแทน” ขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งตามทิศทางการคิดค้น พัฒนาพลังงานทดแทนในปัจจุบัน ทุกประเทศมุ่งไปยังพลังงานที่แทบไม่มีต้นทุน โดยเฉพาะการหาทางนำพลังงานจาก “แสงอาทิตย์-สายลม” มาเก็บไว้ และพร้อมใช้งานได้ทุกเมื่อ แม้ว่าระยะที่ผ่านมานั้น ราคาของอุปกรณ์การสร้างพลังงานทดแทนเหล่านี้จะสูงลิ่ว แต่หากมองในระยะยาว เมื่อมีการใช้พลังงานเหล่านี้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ต้นทุนก็จะถูกลง ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงอย่างเห็นได้ชัดและยังช่วยรักษา “โลก” ให้มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้อีก หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานน้ำมันในประเทศไทย ที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนมาต่อเนื่องโดยตลอด พร้อมทั้งกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนจาก “วิเชียร อุษณาโชติ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บอกว่าจะหันไปสร้างรายได้จากพลังงานด้านอื่นที่ไม่ใช่พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน) รวมทั้งพร้อมทำธุรกิจใหม่ ๆ ให้เพิ่มสัดส่วนขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 22% เป็น 50% ให้ได้ภายในปี 63 หรืออีก 7 ปี เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจหลัก คือการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันนั้น คงไม่เติบโตเท่าใดนัก ตามแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ได้วางเป้าหมายว่าจะเพิ่มกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อม หรืออีบิทด้า ให้ได้ 25,000 ล้านบาท สูงกว่าปัจจุบัน 1.5 เท่า จากอีบิทด้าที่ตั้งเป้าหมายไว้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งต้องลงทุนปีละกว่า 5,000-8,000 ล้านบาท ตลอด 7 ปีข้างหน้านี้ รวม 35,000-56,000 ล้านบาท พร้อมมองหาพันธมิตรในการลงทุน โดยเฉพาะพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านแตกต่างกันไป เพื่อให้เติบโตได้อย่างมั่นคง และรวดเร็ว ไม่ต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่ทุกธุรกิจ ก่อนหน้านี้ บางจากได้ประเดิมธุรกิจพลังงานทดแทนของตัวเองไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะ “โซล่าร์ฟาร์ม” ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ล่าสุดนี้ “บางจาก” ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปศึกษาดูงานนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในทุกรูปแบบ ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเริ่มจากบริษัท “ไอบีซี โซล่าร์ เอจี” ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลก ด้านระบบการผลิตและจัดเก็บไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซล่าร์ รูฟท็อป หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้นำของเยอรมนีก็ว่าได้ บริษัท ไอบีซีฯ ได้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์มากว่า 32 ปี รวม 2.5 กิกะวัตต์ หรือกว่า 150,000 ระบบทั่วโลก ด้วยจุดแข็งคือ มาตรฐานการผลิตสูง มีเครือข่ายทั้งผู้ผลิตและรับติดตั้งกว่า 600 บริษัทใน 11 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมองว่า ราคาการติดตั้งที่ระดับ 3 กิโลวัตต์ เป็นเงินกว่า 200,000 บาท ไม่แตกต่างจากการลงทุนในไทย แต่ที่ได้รับความนิยมมาก เพราะค่าไฟที่เยอรมนีสูง เพิ่มขึ้นปีละ 6% แม้ว่ากว่าจะคุ้มทุนใช้เวลานานถึง 10 ปีก็ตาม แต่ขณะนี้บางจากกำลังมองหาพันธมิตรโซล่าร์เซลล์ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) โครงการโซล่าร์รูฟท็อปอยู่แล้ว ซึ่งกำลังศึกษากฎระเบียบการลงทุน ความเสี่ยงในธุรกิจ และอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม เบื้องต้นมีเป้าหมายลงทุนที่ระดับ 50 เมกะวัตต์ โดยเข้าไปถือหุ้น 30-40% คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ นอกจากเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์แล้วยังมีเรื่องของพลังงานลมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่บริษัท “เทอร์บิน่า เอนเนอร์ยี่” ที่ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมขนาดเล็ก ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด แม้ว่าความเร็วลมจะต่ำ และสามารถติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือน หรืออาคารสำนักงาน โดยรูปทรงกังหัน สามารถใช้ประโยชน์จากลมที่ปะทะเข้ามาได้ทุกทิศทาง ต่างจากกังหันลมที่เคยเห็นกันทั่วไป ด้วยการที่มีขนาดเล็ก มีความแข็ง  แกร่ง และใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่า แต่ว่าต้นทุนการติดตั้งยังสูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับกังหันทั่วไป ซึ่งบางจากฯ เองยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนี้มากนัก เพราะมีรายละเอียดในหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่เพียงเท่านี้…เรื่องของเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน การพัฒนาการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่บริษัท “ชไนเดอร์ อีเล็คทริค” ที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่บางจากให้ความสนใจในเรื่องของการติดตั้งเครื่องชาร์จแบต  เตอรี่แบบเร็ว หรือที่เรียกว่าควิก ชาร์จเจอร์ ภายในสถานีบริการน้ำมันบางจากรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าที่สอดรับกับนโยบายมุ่งสู่สังคมสีเขียว แม้ว่าวิวัฒนาการของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนในต่างประเทศจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่ในประเทศไทยเองก็มีแหล่งพลังงานที่สามารถนำมาพัฒนามาต่อยอดได้ไม่แพ้กัน อย่างเช่นในเรื่องของเหมืองแร่โปแตซ ที่ จ.ชัยภูมิ ที่บางจากเองได้ให้ความสนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุน โดยระหว่างนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อนำไปต่อยอดอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน แม้ปัจจุบันบางจากฯ จะถือหุ้นในบริษัทเหมืองแร่โปแตซอาเซียน อยู่เพียง 6% จากเดิมที่เคยถืออยู่ 12% ก็ตาม แต่ก็เห็นความสำคัญและจะเดินหน้าพัฒนา โดยศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสม หากพัฒนาโครงการนี้ได้ ต้องลงทุนอีก 12,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตปีละ 1 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น ซื้อแหล่งสำรวจและผลิตน้ำมัน โดยขณะนี้มีผู้ติดต่อมา 2-3 ราย กำลังเจรจารายละเอียด โดยมีแหล่งสำรวจและผลิตในไทย อินโดนีเซีย ฟิลิป  ปินส์ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ และบางจากฯเองก็ได้ให้ความสำคัญที่จะขยายธุรกิจในเรื่องของการลงทุนผลิต และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดการใช้น้ำมัน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ และมุ่งไปสู่สังคมสีเขียวในอนาคต เพื่อลดปัญหาโลกร้อน ที่เวลานี้ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวทุกคนอีกต่อไป!. ณัฐธินี มณีวรรณ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บางจากลุยพลังงานทดแทนดันเพิ่มรายได้แทนน้ำมัน…

Posts related