ตอนนี้เห็นเขาจัดระเบียบคลื่นความถี่และใบอนุญาตมากมายในบ้านเรา ออกมาเป็นเงินมหาศาล ก็ให้รู้สึกตื่นเต้นถึงโอกาสที่กำลังทยอยกันมา เพราะเงินเหล่านี้ กสทช.บ้านเราจะเอาไปทำ USO หรือระบบบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อสังคม แผน 5 ปี สองหมื่นล้านบาท
ทำให้อดคิดไปถึงว่าสมัยก่อนจะนัดหมายใครไปเจอกันข้างนอกเป็นต้องวุ่นวายให้แน่ใจว่าไปถูกที่ก่อนออกเดินทาง ไม่อย่างนั้นก็ควานหากันหัวโตหรือไม่ก็ต่างคนต่างผิดหวังหงุดหงิดกลับกันไป แต่เดี๋ยวนี้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพียงนัดกันคร่าว ๆ เช่นว่าสยามพารากอน หรือขอนแก่น ก็พอ เดี๋ยวใกล้ ๆ ค่อยโทรฯ มือถือจูนกันอีกทีสองที
มือถือและเทคโนโลยีเหล่านี้เป็น การเชื่อมโยงŽ ผู้คนเข้าด้วยกันเพื่อการใช้งานอันหลากหลาย สุดแต่ใครจะนำไปคิดประดิษฐ์ใช้งานการเชื่อมโยงนี้ ทำให้ผมอดนึกไปถึงวันหนึ่งลูกสาวที่ทำแล็บอยู่กับพรรคพวกตอนเรียนมหาวิทยาลัยกลับมาเล่าให้ฟังว่าความที่ห้องแล็บมันกว้าง เครื่องก็เสียงดัง ตะโกนกันไม่ได้ยิน ไม่ได้เรื่อง เลยควักมือถือออกมาโทรฯ สั่งงานกัน คนหนึ่งเฝ้าหน้าปัดเครื่องอยู่ทางมุมหนึ่ง อีกคนก็ไปเฝ้าเตาเผาอยู่ที่อีกมุมหนึ่ง ใช้มือถือเป็นวอล์กกี้ทอล์กกี้วิทยุสื่อสารไปโน่นเลย
ตอนนี้บังเอิญกำลังนั่งอ่านหนังสือ The New Digital Age ของ Eric Schmidt ประธานบริษัทกูเกิล กับ Jared Cohen ผู้อำนวยการคนหนึ่งของกูเกิล อ่านไปเจอตัวอย่างที่เขายกมาสองอันเข้าท่าดีมากเลยอดเอามาเล่าสู่กันฟังไม่ได้
ตัวอย่างแรกคือชาวประมงสตรีในประเทศคองโกแทนที่จะจับปลาจากแม่น้ำไปเน่ารอลูกค้าอยู่ที่ตลาดก็เปลี่ยนเป็นเอาปลาแขวนแช่ไว้ในแม่น้ำรอลูกค้าโทรฯ มาสั่งซื้อทางมือถือจึงจะงัดปลาออกมาผ่าล้างเตรียมไว้ ไม่ต้องขนส่ง ได้ปลาสดโดยไม่ต้อง
แช่เย็น จับปลาแต่พอดีไม่เหวี่ยงแหขนไปกันมาก ๆ แถมไม่ทำงานเหนื่อยยากอย่างแต่ก่อน เพิ่มโอกาสและทั้งยังลดต้นทุน นอกจากนั้นยังสื่อสารกับพรรคพวกในละแวกใกล้เคียงเป็นเครือข่ายประมงพอเพียง เกิดเป็นวิถีชาวบ้านที่ไม่ละทิ้งรากฐานพื้นถิ่นแต่เพิ่มศักยภาพของตลาดขึ้นอย่างมาก
อีกตัวอย่างคือพวกเลี้ยงสัตว์แห่งทุ่งเซแรงเกติในแอฟริกาซึ่งอาศัยมือถือเช็กราคาเนื้อในตลาดจะได้กะเวลาส่งเนื้อไปขายได้กำไรดี และยังใช้เชื่อมโยงเครือข่ายพรรคพวกที่เลี้ยงสัตว์กันอยู่ในละแวกใกล้เคียงในรูปแบบของ crowd sourcing หรือเรียกแบบไทย ๆ ว่า ลงแขกแบบระยะไกลผ่านมือถือ เพื่อติดตามร่องรอยเสือ สิงห์และสัตว์ล่าเนื้ออื่น ๆ ที่หากินอยู่ในบริเวณ เรียกว่าสอดรับกับวิถีชีวิตกลางทุ่งเลี้ยงสัตว์ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
จะเห็นว่า การเชื่อมโยงŽ ผู้คนในสังคมเข้าด้วยกันในระดับพื้นฐาน เข้าไปเอื้อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนพลเมือง นั่นจึงเป็นการส่งเสริมรากหญ้าของสังคมอย่างแท้จริง แม่ค้าส้มตำ อาโกร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด หรือสาวยาคูลท์ที่รับออร์เดอร์จากลูกค้าทางมือถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่งยวดของการพัฒนาประเทศ มากกว่าการใช้มือถือ
ซื้อขายหุ้นหรือขายที่กันโครม ๆ เสียอีกอย่างบ้านเราตอนนี้มีวินมอเตอร์ไซค์เกลื่อนไปหมด ทั้งยังออกไปรับส่งคนตามใบออร์เดอร์ที่เข้ามาทางมือถือของคนคุมวินได้ ชีวิตผู้คนสุขสบายขึ้นอีกอักโขครับ
นี่เพียงแต่มีมือถือสื่อสารด้วยเสียงระดับพื้นฐานก็ยังใช้สอยกันได้อย่างพิสดารขนาดนี้ ถ้าเน็ตผ่านมือถือพัฒนากันไปได้อย่างแผนที่วางไว้ สังคมรากหญ้าตามประเทศ (ด้อย) พัฒนาอย่างเราจะยิ่งพุ่งทะยานไปได้อีกขนาดไหน ลองคิดดู
แต่ยังไง ๆ กสทช.ช่วยสอดส่องดี ๆ นะครับ อย่าปล่อยให้แบนด์วิธ(bandwidth) ขาดแคลนสาหัสอย่างตอนนี้ล่ะ ทั้งเน็ตทั้งโทรฯ บ่นกันไปได้ทั้งเมือง. ดร.ยรรยง เต็งอำนวย
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Yunyong.T@Chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : มือถือของปวงชน – 1001

Posts related