กระแส…แหล่งพลังงานในไทย กำลังจะหมดในอีกไม่นานนี้ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่การใช้พลังงานของไทยส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าเป็นจำนวนมาก จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายกับปัญหาพลังงานไทย ***จัดสัมมนาหาคำตอบ “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” จึงเชิญบรรดากูรูด้านพลังงานมาให้คำตอบ ผ่านงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “วิกฤติความเสี่ยงพลังงานกับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” นำโดย “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดกระทรวงพลังงาน บอกว่า วิกฤติพลังงานของไทย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดและหาทางออก เพราะจากข้อมูลการใช้พลังงานปี 56 มีการใช้พลังงานเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี และในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี จึงต้องหาแนวทางลดการนำเข้าให้มากที่สุด รวมทั้งต้องส่งเสริมพลังงานในประเทศให้มากขึ้น ทั้งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนต้องรู้จักประหยัดพลังงาน ***เร่งชงแผนพีดีพี ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ ปี 58-78 หรือแผนพีดีพี 201 ที่เตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแผนและกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการใหม่จากเดิม 53-73 เป็นปี 58-78 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะเดียวกันเมื่อ กพช.เห็นชอบแล้วต้องใช้เวลาอีก 3 เดือน เพื่อจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจน ในเรื่องของการกำหนดตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า แนวทางการรณรงค์เพื่อลดการใช้พลังงานในสัดส่วน 3% ให้ลดลงอีก และการนำแผนพลังงานทดแทนมาปรับใช้ในแผนพีดีพี ขณะที่การปรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น ภายในเดือน ส.ค.นี้จะเร่งหารือและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเรื่องนี้กระทรวงพลังงานได้หารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีของราคาน้ำมันดีเซล ที่ตรึงราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทที่ปัจจุบันไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคขนส่งเท่านั้น ด้าน “คุรุจิต นาครทรรพ” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการหาแหล่งพลังงาน ระบุว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมผลักดันการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้ได้มากขึ้น และทำให้เกิดความชัดเจนในการแปลงสัมปทานของบริษัท เชฟรอน และปตท.สผ. ที่จะหมดอายุในปี 65 – 66 รวมทั้งเสนอให้รัฐเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ที่มีการประเมินว่ามีปริมาณปิโตรเลียมอยู่เป็นจำนวนมาก ***ย้ำต้องปรับโครงสร้าง ขณะที่นักวิชาการ “พรายพล คุ้มทรัพย์” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เตรียมเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานต่อ คสช. ซึ่งการใช้นโยบายตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท จากการลดภาษีสรรพสามิตทำให้ไม่เกิดการประหยัดพลังงาน ขณะที่เบนซินและแก๊สโซฮอล์ มียอดการใช้ที่ต่ำ ดังนั้นจึงควรปรับขึ้นภาษีฯดีเซลเป็น 4 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 95 ปรับลดภาษีจาก 7 บาท เหลือ 4 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 จาก 6.30 บาทต่อลิตรเหลือ 3.60 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์อี 20 จาก 5.60 บาทต่อลิตรเหลือ 3.20 บาทต่อลิตร และอี 85 จาก 1.05 บาท เหลือ 0.60บาทต่อลิตรซึ่งจะทำให้ในภาพรวมราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับราคาลดลงได้ ***ปริมาณสำรองลด หันมาที่มุมมองภาคเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการเสาะหาพลังงาน อย่าง “ไพโรจน์ กวียานันท์” ประธานกรรมการบริหาร เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต มองว่า วิกฤติพลังงานไทยมี 2 ประเด็น ที่สำคัญคือปริมาณสำรองปิโตรเลียมลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานเพิ่มขึ้น โดยการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อ่าวไทยในแต่ละหลุมใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 8–10 ปี เนื่องจากโครงสร้างธรณีวิทยาของแหล่งอ่าวไทยเป็น กระเปาะเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปไม่ใช่แหล่งขนาดใหญ่ จึงต้องใช้หลุมผลิตจำนวนมาก และต้นทุนต่อหลุมก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังถือว่ามีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการนำเข้าแอลเอ็นจี เช่นเดียวกับ “เจน นำชัยศิริ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ปัจจุบันไทย กำลังประสบปัญหาด้านพลังงานใน 4 เรื่อง คือ กรณีที่แหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทยหมด หรือโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือความหลงใหลกระแสพลังงานทดแทน และสุดท้ายคือ แพ้ภาวะโลกร้อน ดังนั้น คสช.ควรเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสพยายามทำความเข้าใจกับคนไทยชาติ ให้ความรู้เรื่องพลังงานที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าไทยมีแหล่งพลังงานจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง หากปล่อยไว้ จะเป็นวิกฤติในระยะยาว ***ดันสร้างโรงไฟฟ้า ส่วนความพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้า “รัตนชัย นามวงศ์” รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. กล่าวว่า ปัญหาความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ มีอุปสรรคมากขึ้น และต้องใช้ระยะเวลา ขณะที่ไม่สามารถพึ่งพาพลังงานทดแทนได้ทั้งหมด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และลม ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง เพราะฉะนั้นต้องหาแนวทางสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากหลายมุมมองสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ด้านพลังงานของไทย ที่ ณ เวลานี้ ต้องเลิกบิดเบือนข้อมูลว่าไทยมีแหล่งพลังงานมหาศาล รวมทั้งเลิกบิดเบือนราคา จนทำให้ใช้พลังงานอย่างลืมตัว ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องหันหน้าร่วมมือประหยัดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง เพราะในอนาคตแหล่งพลังงานเป็นของหายาก ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ราคาพลังงานย่อมต้องแพงขึ้นตามปริมาณที่หาได้ยาก!. จิตวดี เพ็งมาก
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลุยฝ่าวิกฤติพลังงานไทย เดินหน้าประหยัดลดนำเข้า
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs


