นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ประเทศไทยผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงนัก ส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศที่เน้นส่งออกสินค้าที่ใช้ เทคโนโลยีสูงกว่า เช่น ประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากกว่า โดยสถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงข้อจํากัดด้านศักยภาพการผลิตของ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรักษาความ สามารถในการแข่งขันในฐานะการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกได้ดีเพียงพอทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้การส่งออกของหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียเหนือ ปรับดีขึ้นตั้งแต่ต้นไตรมาสที่สอง แต่การส่งออกของไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก ซึ่งสาเหตุสําคัญมาจากข้อจํากัดด้านโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการในตลาดโลก และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเต็มที่ อาจทำให้การส่งออกของไทยไม่สามารถกลับมาขยายตัวสูงเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยเช่นในอดีตอีกต่อไป“ผลสำรวจของเวิล์ด อิโคโนมิก ฟอรั่ม เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ชี้ว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงมากในสายตานักลงทุนต่างชาติ สะท้อนว่าไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงดูนักลงทุนให้ย้ายมาผลิตในประเทศ เพราะความไม่พร้อมด้านบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพการผลิตของประเทศ ทั้งการเตรียมความพร้อมตลาดแรงงาน เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำไม่เช่นนั้นขีดความสามารถการผลิตของไทยจะห่างจากภูมิภาคมากขึ้น จนสุดท้ายจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ (เอชดีดี) ของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก แต่ขณะนี้ เอชดีดี เป็นสินค้าที่มีความต้องการลดลง เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรสนิยมจากการใช้คอมพิวเตอร์ ที่มี เอชดีดี เป็นหน่วยความจําไปสู่สมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ตแทน แม้ผู้ผลิตเอชดีดีรายใหญ่ของโลกพยายามรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยการเข้าซื้อและรวมทุนกับบริษัทผู้ผลิตเมมโมรี่ในการเก็บข้อมูล (เอสเอสดี) แต่ไม่มีแนวโน้มจะลงทุนผลิตเอสเอสดีในไทย เนื่องจากขาดการร่วมกลุ่ม เพื่อรองรับเพราะอุตสาหกรรม ทำให้ไทยไม่อยู่ในการผลิตของสินค้าไฮเทคเหล่านี้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แบงก์ชาติแนะผู้ส่งออกปรับตัวเพิ่มศักยภาพการผลิต

Posts related