มนุษย์เราเกิดมาภายใต้การควบคุมของธรรมชาติ และในเวลาเดียวกันเราก็พยายามที่จะควบคุมธรรมชาติกลับโดยอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่คิดค้นขึ้นจากมันสมองของมนุษย์ พุธนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับอุปกรณ์ที่มนุษย์เราคิดขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ไหนไกลตัวเราเลยครับ เพราะมันคือแมลงสาบ!!! ใช่ครับแมลงสาบที่ใครหลายคนไม่ชอบนี่ล่ะครับ แต่ก็มีนักพัฒนากลุ่มหนึ่งพยายามจะหาทางควบคุมการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ให้ได้ผ่านทางแอพพลิเคชันบนมือถือ โดยใช้ชื่อโปรเจคนี้ว่า RoboRoach RoboRoach เป็นการบูรณาการคำระหว่างคำว่า Robot ที่แปลว่าหุ่นยนต์ กับคำว่า Cockroach ที่แปลว่าแมลงสาบ โดยผมขอเรียกเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่าแมลงสาบหุ่นยนต์ (ไม่ใช่หุ่นยนต์แมลงสาบนะครับ เพราะนี่ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เราสร้างมาให้มีหน้าตาเป็นแมลงสาบ แต่เป็นแมลงสาบตัวเป็น ๆ ตัวจริง ๆ ที่เราพยายามจะควบคุมมัน) แน่นอนครับว่ามีมือถืออย่างเดียวคงไม่สามารถควบคุมแมลงสาบได้ เพราะฉะนั้นการจะใช้ RoboRoach จึงต้องติดตั้งชุดอุปกรณ์ไว้กับแมลงสาบตัวเป็น ๆ โดยเป็นชุดแผ่นปรินต์ PCB เล็ก ๆ ที่มีแบตเตอรี่สำหรับติดหลังของแมลงสาบ แต่การติดตั้งแผ่นปรินต์นี้ก็ต้องใจแข็งนิดนึงครับ ใครกลัวแมลงสาบอาจไม่สามารถทำได้ พอหลังจากติดแผ่นปรินต์ PCB นี้แล้วเราก็สามารถใช้มือถือสมาร์ทโฟนควบคุมสั่งการการเคลื่อนที่ของแมลงสาบตัวนั้นผ่านทาง Bluetooth ได้ครับ โดยทันทีที่สั่งงาน ชุดอุปกรณ์นี้ก็จะเข้าทำการบังคับศูนย์ประสาทของแมลงสาบผ่านขั้วไฟฟ้าเหมือนการส่งคลื่นไฟฟ้าอ่อน ๆ เข้าไป เพื่อบังคับทิศทางการเดินของแมลงสาบว่าอยากให้แมลงสาบเดินทางซ้ายหรือเดินทางขวา เหมือนเราใช้มือถือสมาร์ทโฟนเป็นคอนโทรลเลอร์บังคับการเดินของแมลงสาบนั่นเองครับ คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะกำลังคิดว่าผู้คิดสร้างอุปกรณ์นี้ก็พิเรนทร์ไม่เบานะครับ มาควบคุมสัตว์สิ่งมีชีวิตก็ยังพอเข้าใจได้ แต่นี่ไม่ใช่สัตว์น่ารักน่าเอ็นดูที่ไหน เป็นสัตว์ที่คนจำนวนมากไม่ชอบหรือเรียกว่าเกลียดเลยก็ว่าได้ แต่ทราบไหมครับว่าการเกิดโปรเจค RoboRoach นี้ ไม่ใช่เกิดจากคน ๆ เดียวที่ให้การสนับสนุน แต่เกิดจากคนจำนวนมากให้เงินสนับสนุนผ่านทางเว็บไซต์ Kickstarter ซึ่งผมเคยเขียนถึงเว็บไซต์นี้ไปแล้วครั้งหนึ่งในหัวข้อ “Smart Watch นาฬิกาแห่งอนาคต” เพราะว่านาฬิกาฉลาด Pebble ก็เกิดมาจากเว็บไซต์นี้ ผมขออธิบายทบทวนสั้น ๆ อีกครั้งละกันครับว่าเว็บไซต์นี้คืออะไร เว็บไซต์ Kickstarter เป็นเหมือนตัวกลางให้ใครก็ตามที่มีไอเดีย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรแต่ไม่มีเงิน นำเสนอไอเดียผ่านกระบวนการคล้าย ๆ กับการขอสปอนเซอร์ทำโครงการทั่วไป เพียงแต่เป็นการขอสปอนเซอร์จากเงินระดมทุนของทุก ๆ คนที่เข้ามาเว็บไซต์นี้และเห็นว่าไอเดียที่เราเสนอนั้นน่าสนใจ ซึ่งแมลงสาบหุ่นยนต์ RoboRoach นี้ ก็เกิดมาจากการระดมทุนด้วยวิธีนี้ล่ะครับ เรียกว่าถ้าคุณผู้อ่านบอกว่าคนคิดโปรเจคนี้พิเรนทร์แล้วล่ะก็ งานนี้ก็คงมีคนความคิดพิเรนทร์ ๆ ร่วมกันมากทีเดียวครับ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่พิเรนทร์คนเดียว เรียกว่าพิเรนทร์กันเป็นกลุ่มเลย แต่ถ้ามองในมิติทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการบูรณการความรู้ทางเทคโนโลยีของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เข้ากับความรู้ความเข้าใจกระบวนการทางสมองของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเราอาจนำไปต่อยอดได้ไม่จำกัดเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่แน่นอนครับ ความยากของการควบคุมสัตว์สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไป เช่นแมลงสาบก็จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านหนวด ถ้าเราอยากจะควบคุมแมลงสาบเราก็จำเป็นต้องบังคับผ่านหนวด แต่ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นก็อาจจะต้องใช้วิธีการบังคับผ่านทางอวัยวะอื่นแทน ในโลกเทคโนโลยียุคศตวรรษที่ 21 ของพวกเราก็มีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้นใหม่เสมอครับ แต่ในความแปลก ถ้าคิดให้ดี ก็มีความน่าสนใจ ความน่าติดตาม มีสิ่งที่น่าศึกษาค้นหาอยู่ตลอดเวลาครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต
chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แมลงสาบคอนโทรลเลอร์ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related