นวัตกรรมในโลกศตวรรษที่ 21 นี้มีมากมายหลากหลายเลยนะครับ แต่มีนวัตกรรมหนึ่งที่ผมเชื่อว่าน่าสนใจและใครไม่รู้จักอาจจะเรียกว่าตกเทรนด์เทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือแว่นอัจฉริยะกูเกิล หรือที่เรียกว่า กูเกิลกลาส (Google Glass) แฟนคอลัมน์วันพุธของผมอาจจะพอจำกันได้ว่าผมเคยเขียนบทความไปแล้วครั้งหนึ่ง เรื่องเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกจริง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Augmented Reality ซึ่งถ้าอธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือการผสมผสานระหว่างโลกจริง ๆ ที่เราอยู่ เข้ากับโลกเสมือนที่อาจสร้างโดยคอมพิวเตอร์ กราฟิกต่าง ๆ กูเกิลกลาสเป็นการผสมผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกจริง โดยการสร้างภาพ เสมือนจริงให้มาปรากฏอยู่บนเลนส์แว่นที่โปร่งแสง ทำให้ผู้ใช้ที่มองผ่านเลนส์แว่นสามารถเห็นภาพเสมือนจริง (Virtual world) นั้นควบคู่ไปกับภาพวิวของจริง (Real world) ได้ หรือก็คือ เรายังคงเห็นวิวทิวทัศน์ทั่ว ๆ ไปเหมือนปกติ แต่จะมีภาพเสมือนจริงที่ซ้อนบนเลนส์แว่นคอยแสดงข้อมูลต่าง ๆ ให้เราเห็นพร้อมกันไปด้วย โดยภาพเหล่านั้นสามารถใช้เพื่อบอกข้อมูลได้หลากหลาย อาทิ บอกเวลา บอกสภาพอากาศ แสดงข้อความเข้า หรือแสดงข้อมูลเส้นทางจากแผนที่ออนไลน์ เป็นต้น กูเกิลกลาสสามารถถูกตั้งค่าให้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้นะครับ แถมแว่นอัจฉริยะนี้ยังรองรับการสั่งงานด้วยเสียงและด้วยการกะพริบตา ทำให้เราสามารถสั่งถ่ายภาพหรืออัดวิดีโอด้วยเสียงได้ และสั่งเช็กอินสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยการกะพริบตาเท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลาล้วงมือไปควานหามือถือจากกระเป๋าเพื่อเอามากดหน้าจอแล้วล่ะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วกูเกิลกลาสก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะมีการพูดถึงกันมาได้สักพักแล้ว แต่ปัจจุบันกูเกิลก็ยังคงพยายามปรับปรุงการออกแบบแว่นตัวนี้เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้มากยิ่งขึ้น เช่น ออกแบบให้สามารถใช้ได้กับแว่นกันแดดและแว่นสายตาได้ ซึ่งก็หมายความว่า แม้เราจะใส่แว่นตาอยู่เดิมแล้วก็ยังสามารถใช้กูเกิลกลาสได้อยู่ครับ นอกจากนี้ก็รวมไปถึงความพยายามในการติดหูฟังลงไปในแว่น เพื่อให้กูเกิลกลาสเป็นเครื่องเล่นเพลงกลาย ๆ ไปได้ด้วย แต่ประเด็นในเรื่องการบอกแผนที่การเดินทางของกูเกิลกลาสนั้น ต้องบอกว่ายังไม่ลงตัวกันซะทีเดียวครับ เพราะมีหลายประเทศถึงขนาดจะออกกฎหมายห้ามการใช้กูเกิลกลาสในขณะขับรถ เพราะหลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ แต่ในขณะเดียวกันบางฝ่ายก็ค้านว่ากูเกิลกลาสจะสามารถช่วยให้ขับรถได้ดีขึ้น ซึ่งประเด็นถกเถียงนี้คงต้องไว้ลองดูตัวเลขสถิติกันล่ะครับว่าฝ่ายไหนจะตั้งสมมุติฐานได้ตรงความเป็นจริงมากกว่ากัน แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจครับ หลายคนคงเคยอ่านการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอลเมื่อสมัยหลายสิบปีก่อน อาจจะพอจำได้ว่าไอเดียกูเกิลกลาสนี้คล้ายกับแว่นวัดพลังสเกาเตอร์ของ เบจิต้าเลยจริง ๆ เรียกว่าเอาไอเดียจากในการ์ตูน มาทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจริง ๆ แล้วนวัตกรรมหลายอย่างในโลกศตวรรษที่ 21 นั้นมีแรงบันดาลใจมาจากทั้งหนังและการ์ตูนมากมายครับ ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องเทคโน โลยีที่ปรากฏในการ์ตูนดราก้อนบอลก็มีเยอะจริง ๆ นั่นล่ะครับ คนเขียนเค้าก็จินตนาการไว้ได้ดีทีเดียว ตั้งแต่พวกแคปซูลจิ๋วโยนไปกลายเป็นบ้านเป็นรถได้ ดราก้อนเรดาร์ที่หาลูกบอลเล็กจิ๋วนี้ได้ไม่ว่าจะหล่นอยู่ที่ใดในโลก รวมถึงแว่นตาวัดพลังสเกาเตอร์ด้วย ผมตั้งข้อสังเกตนิดนึงครับ ว่าแม้ในการ์ตูนดราก้อนบอลนั้นจะมีอุปกรณ์ที่ไฮเทคมากมาย บางอย่างแม้ในปัจจุบันเราก็ยังไม่สามารถสร้างออกมาได้จริงเลย แต่ในการติดต่อสื่อสารกันของตัวละครกลับไม่สามารถเห็นเป็นรูปภาพหรือภาพวิดีโอออกมาได้ แต่ตัวละครจะติดต่อกันด้วยเสียง (ทั้งจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และทั้งจากพลังจิตเลยล่ะครับ) หรือถ้าเป็นภาพก็ใช้แค่เครื่องแฟกซ์พิมพ์เป็นภาพออกมาบนกระดาษ เรียกว่าแพ้ FaceTime ของสมาร์ทโฟนสมัยนี้หลุดลุ่ยเลยล่ะครับ แต่อย่างว่าล่ะครับคนเขียนดราก้อนบอล อากิระ โทริยามา เริ่มเขียนการ์ตูนเรื่องนี้มาตั้งเกือบ 30 ปีที่แล้ว การที่สามารถจินตนาการได้ถึงขนาดนี้ก็เรียกว่าเก่งมากแล้ว ผมเชื่อนะครับว่าจินตนาการสำคัญ แต่องค์ความรู้ที่จะสามารถทำให้จินตนาการนั้นเกิดขึ้นจริงก็สำคัญไม่แพ้กัน จินตนาการเพียงอย่างเดียวหรือความรู้เพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถสร้างสุดยอดนวัตกรรมออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง ผมก็ยังเชื่อนะครับว่าวันหนึ่งคนไทยเราก็จะสามารถผสมผสานจินตนาการและความรู้ สร้างนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ออกมาเป็นของเราได้เช่นกัน. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แว่นอัจฉริยะกูเกิล – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related