“ใครมีบัตรเครดิตยกมือขึ้น” ยุคนี้สมัยนี้การมีบัตรเครดิตคงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือการจะมีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ ก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ที่เป็นประเด็นปัญหากันมากคงเป็นเรื่องการไม่มีวินัยหรือความรู้ไม่เท่าทันกับพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของเจ้าของบัตรเครดิตมากกว่า มีกรณีปัญหาที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตและได้ร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มักเป็นประเด็นปัญหาการชำระหนี้ ค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยปรับ บัตรเครดิตหายซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจากการขาดวินัยและความรู้ไม่เท่าทันของผู้ใช้บัตรเครดิตทั้งสิ้นจะโดยความตั้งใจหรือประมาทก็ตามแต่ก็เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้บริโภคหลายรายต้องทุกข์ใจกัน โดย “ธุรกิจบัตรเครดิต” รัฐได้มีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในเรื่องธุรกิจบัตรเครดิตเช่น ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ซึ่งมีสาระสำคัญในการดูแลธุรกิจบัตรเครดิต ความจริงบัตรเครดิตมีประโยชน์ทำให้เราสะดวกและปลอดภัยกว่าการถือเงินสดซื้อสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทันที สามารถถอนเงินสดมาใช้จ่ายในยามฉุกเฉินและสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัล หากผู้ใช้บัตรเครดิตรู้จักใช้อย่างมีวินัยและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้บริโภคได้เลย เมื่อผู้บริโภคต้องใช้บัตรเครดิตเพื่อเป็นหนี้อย่างเป็นสุขผู้บริโภคต้อง 1. ก่อหนี้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น 2. รู้จักหักห้ามใจตัวเองไม่วิ่งตามกระแสบริโภคเกินตัว 3. ภาระการผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน 4. คิดให้ดี และอ่านสัญญารวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำสัญญาสินเชื่อ 5. ใช้เงินตามสินเชื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ 6. ตั้งมั่นว่าจะจ่ายตรงตามเวลาและเงื่อนไข 7. หากเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว ควรรีบหารือกับเจ้าหนี้ 8. หลีกเลี่ยงสินเชื่อนอกระบบ ส่วนผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจจะทำบัตรเครดิตควรอ่านรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทำบัตรเครดิตของผู้ออกบัตรหลาย ๆ แหล่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบ เช่น ค่าธรรม เนียมแรกเข้าและรายปี ระยะเวลาชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย วันที่เริ่มคิดดอกเบี้ย การผ่อนชำระเงินขั้นต่ำ เงื่อนไขการนำบัตรเครดิตไปใช้ในต่างประเทศ ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการอื่น ๆ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และรายละเอียดอื่น เช่น จุดบริการรับชำระเงิน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการสมัครบัตรเครดิต ภาระหน้าที่ของผู้ถือบัตร การทำบัตรหาย การขอยกเลิกบัตร แต่สำหรับผู้บริโภคที่กำลังเป็นทุกข์กับหนี้บัตรเครดิตควรดำเนินการดังนี้ 1. ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 2. จ่ายหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะจ่ายได้ 3. จ่ายให้ตรงกำหนดชำระเงิน 4. อย่าเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตใบอื่นที่มีมาโปะวนกันไปเรื่อย ๆ แต่ควรหาจากแหล่งอื่นที่มีดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาชำระหนี้บัตรเครดิต หรือการตัดใจขายทรัพย์สินหรือนำเงินออมมาปลดหนี้  5. เจรจาหารือกับผู้ออกบัตรแต่เนิ่น ๆ เพื่อวางแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ด้วยความปรารถนาดีจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ทำอย่างไรเมื่อเป็นหนี้บัตรเครดิต’ – ไขปัญหาผู้บริโภค

Posts related