นายวัลลภ  วิตนากร  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  และสมาคมธนาคารไทย โดยที่ประชุมจะหารือวาระกรอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)  ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน  ซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 16 ก.ค. นี้ รวมทั้งหารือแนวโน้มเศรษฐกิจ  สถานการณ์การส่งออก   การลงทุนในครึ่งปีหลังปี 57 นอกจากนี้จะหารือถึงสถานการณ์กรณีประเทศสหรัฐ ฯ ลดระดับความน่าเชื่อถือการตอบสนองในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทย ในระดับเทียร์ 3 ว่า มีผลกระทบต่อภาคการค้าหรือไม่อย่างไร  แต่ละหน่วยงานมีการเสนอข้อคิดเห็น หรือแนวทางการแก้ไขปัญหา ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง และเชื่อว่า นายสุพันธุ์  มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.จะมีการหารือถึงแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้ยกให้การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  เป็นวาระแห่งชาติ  นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเชิญนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้แทนประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมประชุมหารือกับกระทรวงฯ ทุกเดือน เพื่อสนองนโยบาย คสช. ให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุต ฯ ขยายตัวอย่างยั่งยืน  ซึ่งจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งแรก จะจัดที่กระทรวงอุตฯ ในวันที่ 15 ก.ค. เวลา 16.30 – 18.30 น.  สำหรับการประชุมครั้งนี้ จะทำความเข้าใจการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ของกระทรวงอุตฯ เช่น การพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) รูปแบบใหม่ ที่ลดขั้นตอนจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน รวมถึงการออกใบอนุญาตประทานบัตร อาชญาบัตร และการออกใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ลดเวลาลงเหลือ 26 วันจากเดิม 43 วัน และการเปิดศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ เพื่อให้บริการในการติดตามเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ  ขณะเดียวกันจะหารือสนับสนุนนโยบายคสช. ที่เน้นให้โรงงานประกอบกิจการ คำนึงถึงความรับผิดชอบแก้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ขยะอุตสาหกรรม  และการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน จากปัจจุบันไทยมีโรงงาน 130,000 โรง เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ต้องกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จำนวน 75,000 โรง โดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้อง กระทรวงอุตฯ จะยกย่อง และมอบเครื่องหมายกรีน อินดัสตี รวมทั้งพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในรูปแบบของฟาส แทรค  ในการอนุญาต และมีโครงการส่งเสริมสนับสนุนอื่นๆ ด้วย ส่วนรายที่ทำไม่ถูกต้องจะขอความร่วมมือจาก ส.อ.ท. ในการชักชวนหรือตักเตือน หรือมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย เพราะอาจเป็นผู้สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมภาคเอสเอ็มอี  ซึ่งได้ยกเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการ วิธีการและงบประมาณสนับสนุน  และร่วมกันรณรงค์ต่อต้านคอรัปชันในทุกรูปแบบ 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กกร.นัดถกเศรษฐกิจครึ่งปีหลังพรุ่งนี้

Posts related