นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นในปี 58 โดยจะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามเฝ้าระวังโดยผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลจากศูนย์ฯ ไปใช้วางแผนรับมือลดการใช้น้ำ การหมุนเวียนน้ำ ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ   ทั้งนี้ กนอ.ได้ดำเนินโครงการน้ำหู-ทับมา และโครงการพรีทรีทเมนท์ ไอ – 8 เพื่อช่วยผันน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรม ประมาณ 10,000 – 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีปริมาณการใช้น้ำ 5,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยกนอ.ได้ประสานไปยัง บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (อีสท์วอร์เตอร์)  ซึ่งเป็นผู้ดูแลและดำเนินการผันน้ำใช้ ในภาคอุตสาหกรรม โดยเร่งให้ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลให้ทันภายในปี 2558 เพื่อช่วยให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในการจ่ายน้ำให้กับพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว “จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงปลายปี 57- 58 พบว่า มีปริมาณน้ำฝนลดลงซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บสำรอง เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไม่เพียงพอ โดยเฉพาะภาคตะวันออก ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรม และใช้น้ำในระบบกระบวนการผลิตในปริมาณมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ อยู่ที่ 5,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันจึงทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 3 อ่างหลัก คือ อ่างหนองกาย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง มีน้ำคงเหลือเพียงแค่ 60% เท่านั้น ซึ่งจากแผนที่ กนอ.เตรียมไว้คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ต่อภาคอุตสาหกรรมได้ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและตื่นตัวเตรียมแผน รับมือในส่วนของโรงงานของตนเองไว้ เพื่อให้สามารถมีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง”  นอกจากนี้ กนอ.ยังได้ออกมาตรการเสริมรองรับสถานการณ์น้ำในระยะยาว โดยมีแผนจัดทำระบบการนำน้ำจากคลองที่อยู่ใกล้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ไหลลงทะเลนำกลับมาใช้ในระบบ และมีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำสำรอง ในพื้นที่ นิคมฯทุกแห่ง โดยในปี 2558-2559 จะเริ่มก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดิบมาบตาพุดจำนวน 2 แห่ง พื้นที่รวม 158 ไร่ ปริมาตรรวม 1.60 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอนาคต กนอ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะสร้างเขตพื้นที่ เพื่อสำรองน้ำจืด และ แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยจะใช้พื้นที่ในส่วนของท่าเรือฯมาบตาพุดสำรองน้ำรองรับหากเกิดวิกฤติ ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น   

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กนอ.ถกผู้ประกอบการรับมือน้ำแล้ง

Posts related