มีความพยายามสร้างความสับสนในหมู่ประชาชนผู้บริโภคก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อยู่สองประการคือ 1. ภาคปิโตรเคมีมาแย่งใช้ก๊าซราคาถูกจากภาคประชาชน ทำให้ประชาชนต้องไปใช้ก๊าซหุงต้มนำเข้าที่มีราคาแพง 2. กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีที่ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้ได้ใช้แอลพีจีในราคาต่ำกว่าตลาดโลกถึง 40% การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้ต้องเริ่มจากที่มาของก๊าซแอลพีจีในบ้านเราก่อนครับ ก๊าซแอลพีจีในบ้านเรามีที่มาจากสามแหล่งคือ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 53% จากโรงกลั่นฯ 25% และนำเข้า 22% ก๊าซในอ่าวไทยนับเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติที่วิเศษ คือเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่สามารถนำมาแยกออกเป็นก๊าซชนิดต่าง ๆ ที่สามารถนำไปทำเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มมูลค่าได้หลายสิบเท่า (ก๊าซในบางแหล่งอย่างเช่นก๊าซในพม่าเป็นก๊าซแห้ง ไม่มีคุณสมบัตินี้ ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างเดียว) ดังนั้นเพื่อใช้ประโยชน์จากก๊าซในอ่าวไทยอย่างเต็มที่ เราจึงต้องสร้างโรงแยกก๊าซขึ้น และนำก๊าซมาแยกตามประเภทของการใช้งาน นั่นก็คือ มีเทนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อีเทน โพรเพน นำไปเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานปิโตรเคมี และแอลพีจีนำไปใช้ในภาคครัวเรือน ในระยะแรกที่เรายังสามารถผลิตแอลพีจีได้พอใช้ในประเทศก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และนโยบายราคาที่ไม่สมเหตุผลของรัฐบาล โดยมีการปล่อยราคาน้ำมันให้ลอยตัวตามราคาในตลาดโลก แต่กลับตรึงราคาแอลพีจีเอาไว้โดยไม่ยอมปรับตามต้นทุนที่แท้จริง จึงทำให้มีผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้แอลพีจีแทนน้ำมันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในบ้านเราก็มีการขยายตัวสูง จึงทำให้การผลิตแอลพีจีในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ ต้องเริ่มมีการนำเข้าในราคาที่แพงกว่าราคาหน้าโรงแยกก๊าซ  แต่รัฐบาลก็ยังไม่ยอมปรับราคาแอลพีจีในประเทศให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง การนำเข้าจึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ และรัฐบาลก็ใช้วิธีนำเงินกองทุนน้ำมันฯมาอุดหนุนราคาในประเทศ ให้ยังคงขายอยู่ได้ในราคาเดิมมานับเป็นสิบปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาแอลพีจีไม่พอใช้จนต้องนำเข้าเป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายตรึงราคาแอลพีจีในประเทศของรัฐบาลเอง เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขึ้นไปแล้ว 40% แต่ราคาหน้าโรงแยกก๊าซกลับลดลง 2% ส่วนที่มีการกล่าวกันว่าภาคปิโตรเคมีมาแย่งก๊าซประชาชนใช้นั้น ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดมากกว่า  เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าให้ใครได้มีโอกาสใช้ก่อนหรือใช้หลัง แต่ต้องมองว่าจะใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อคนในชาติ และไม่ทำลายคุณค่าของทรัพยากรอันมีค่าและมีจำกัด โดยนำไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า เช่นนำไม้สักไปเผาทำฟืนเป็นต้น ทางด้านราคาก็เช่นกัน เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นของหายาก ใช้แล้วหมดไป จึงมีคุณค่าในตัวของมันเอง และไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของคนรุ่นเราเท่านั้นที่จะมีสิทธิใช้อย่างฟุ่มเฟือย จนคนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้ใช้อีกต่อไป ดังนั้นถึงแม้เราจะมีแหล่งพลังงานของเราเอง แต่การตั้งราคาอย่างเหมาะสมเพื่อให้มีการใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องจำเป็น ราคาพลังงานจึงต้องไม่ถูกจนเกินไป ต้องปรับขึ้นลงได้ตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องไม่มีการอุดหนุนราคาพลังงานในลักษณะที่เป็นการอุดหนุนแบบหน้ากระดาน (Across the Board) คืออุดหนุนทุกคน ปัจจุบันการอุดหนุนราคาแอลพีจีทำโดยผ่านกองทุนน้ำมันฯ และอุดหนุนเฉพาะการนำเข้ากับราคาหน้าโรงกลั่นฯเป็นบางส่วนเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาคปิโตรเคมีเลย ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่า กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนราคาแอลพีจีให้กับภาคปิโตรเคมี ทำให้ภาคปิโตรเคมีซื้อวัตถุดิบได้ถูกกว่าตลาดโลก 40% จึงไม่เป็นความจริง แต่ถ้าถามว่า  ภาคปิโตรเคมีซื้อแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซในประเทศได้ถูกกว่าการนำเข้าจริงไหม ผมก็ต้องตอบว่า จริงครับ และสิ่งนี้ก็คือข้อได้เปรียบของการที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทยที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเป็นวัตถุดิบยังไงล่ะครับ  เราถึงแข่งขันกับเขาได้ แล้วอย่างนี้ยังมีคนจะพยายามเสือกไสไล่ส่งให้เขาไปนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศมาผลิต ทำให้ข้าวของแพงขึ้น แล้วเอาก๊าซในประเทศไปผลาญกันในราคาถูก ๆ มันจะช่วยให้เศรษฐกิจของชาติดีขึ้นยังไงครับ และตอบไว้เลยเผื่อมีคนสงสัยนะครับ ว่า ราคาแอลพีจีที่ภาคปิโตรเคมี ซื้อจากโรงแยกก๊าซแพงกว่าที่ภาคประชาชนซื้อแน่นอนครับ !!!

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนราคา ปิโตรเคมีจริงหรือ? – พลังงานรอบทิศ

Posts related