นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการไม่สามารถจัดทำงบประมาณ ปี 58 ได้ตามกำหนด ทำให้ส่วนของเงินลงทุนต้องหายไปกว่า 90,000-100,000 ล้านบาท นอกจากนี้สศช.ยังจับตาตัวเลขการส่งออกเป็นพิเศษ เพราะน่าเป็นห่วง แม้ว่าเดือน ม.ค.-ก.พ.จะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.2% และมีปริมาณการส่งออก 2% แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5% หากไม่รวมการส่งออกทองคำจะติดลบ 1.9% ดังนั้น การบริหารเศรษฐกิจระหว่างนี้ คงต้องพยายามส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น เพราะหากเศรษฐกิจ (จีดีพี)ปีนี้ ขยายตัว ไม่ถึง 3% อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานแน่นอน“เศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้รับผลกระทบจาก 4 ปัจจัยหลัก ทั้ง การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากเดิมคาดว่ามีเงินลงทุนภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท, การใช้งบประมาณปี 57 จากรัฐบาลรักษาการได้ไม่เต็มที่, ยอดนักท่องเที่ยวลดลง โดยปรับลดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้จาก 28 ล้านราย เหลือ 27.5 ล้านราย หรือหายไปกว่า 500,000 ราย ส่งผลกระทบต่อรายได้กว่า 25,000-30,000 ล้านบาท รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ต่ำลง กระทบต่อการบริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะปรับลดลงมาก เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา”ด้านนายธวัช ชัยยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หากการเมืองลากยาวต่อไปอีก ไม่แน่ใจว่าธนาคารพาณิชย์จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ให้กลายเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้อีกแค่ไหน แม้จะสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ช่วงครึ่งปีหลังได้ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจยังคงสาหัส เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดทำ และเบิกจ่ายงบประมาณปี 58 ตามกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะงบลงทุน จะไม่หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นควรต้องเรงหาข้อยุติดปัญหาการเมืองให้ได้โดยเร็วที่สุด ที่สำคัญต้องไม่ใช่สักแต่ว่ามีรัฐบาล แต่ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน และมีอำนาจในการบริหารงานได้เต็มที่ส่วนนายธีระชัย ภูวนานรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นหนี้ครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้น 82% หรือคิดเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย รองจากไต้หวันที่ 85% และมาเลเซีย 83%“หากการเมืองยืดเยื้อไปช่วงครึ่งหลังของปี ประเมินว่า นอกจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแล้ว ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจภาคลงทุนที่จะดึงกลับมาได้ยาก ถ้าความขัดแย้งการเมืองยุติได้โดยเร็วภายใน 1-2 เดือนนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็ว โดยคาดว่าสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ยังต้องติดตามกระบวนการยุติธรรม ที่จะตัดสินคดีสำคัญทางการเมือง ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์ในประเทศคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ โจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การหาเงินกู้ เพื่อจ่ายหนี้ให้ชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าว และราคาข้าวที่ตกต่ำ รวมทั้ง การสร้างอ่างเก็บน้ำในชนบท เพื่อให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาภัยแล้ง”น.ส.กิริฎาเภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อและรุนแรง จะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย และมีความเสี่ยงที่ปีนี้อาจเติบโตได้ต่ำกว่าที่ธนาคารโลกคาดไว้ที่ 3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค เช่นเทียบกับมาเลเซียโต 4.9% เวียดนามโต 5.5% ทั้งที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยควรเติบโตได้มากกว่านี้ ซึ่งยังไม่นับรวมเงินอีกกว่า 100,000 ล้านบาท ที่หายไปจากกรณีปัญหาชาวนายังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาลคิดเป็นจีดีพีที่หายไป 1% โดยธนาคารโลกเป็นห่วงปัญหาการเมืองในประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว 5-10 ปีมากที่สุด เพราะทำให้นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่อเนื่อง ล่าช้า กระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขัน นักลงทุนและผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การเมืองลากยาวฉุดเศรษฐกิจไทย

Posts related