หลังจากไทยต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัญหาการส่งออกที่ติดลบ การลงทุนจากต่างประเทศหดตัว การใช้จ่ายภาครัฐสะดุด ที่สำคัญการบริโภคภายในประเทศกลับดิ่งเหวซบเซาที่สุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และยังถูกถาโถมจากปัจจัยความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้บรรดาภาครัฐต่างเร่งหามาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศอย่างเข้มข้น แต่สุดท้าย…สารพัดมาตรการที่ขนที่พรั่งพรูกันออกมา กลับไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก เพราะประชาชนคนไทยยังเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากนัก ดังนั้นหลายคนหลายฝ่ายจึงฝากความหวังสุดท้ายไว้ที่การเลือกตั้งส.ส. ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสารพัดจะรับอานิสงส์ในครั้งนี้ไปด้วย ที่สำคัญเงินที่สะพัดไปอยู่ในมือของประชาชนคนไทยก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ไทยเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 27 ในอดีตไทยมีการเลือกตั้งมาแล้วถึง  26 ครั้ง เมื่อรวมกับเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกในวันที่ 2 ก.พ. 57 ตามความตั้งใจของรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลายเป็นครั้งที่ 27 ซึ่งในแต่ละครั้งต้องยอมรับว่าเงินสะพัดที่ออกมา ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพราะมีเงินเข้าไปอยู่ในมือของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ก่อนหน้านี้มีการประเมินกันว่าหากการเลือกตั้ง ส.ส. สามารถเกิดขึ้นได้จริงตามปกติในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จะมีเงินสะพัดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือจะมีเงินออกมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจประมาณ  40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดำเนินการเลือกตั้ง  3,800 ล้านบาท เงินจากค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส. ในระบบที่อยู่ในระดับหลักล้านบาทต่อคนในการหาเสียง และที่มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเงินใต้ดินที่ไม่แจ้งยอดการใช้จ่าย ซึ่งเงินตรงนี้จะรวมถึงกรณีที่หัวคะแนนบางรายทำผิดกฎหมายโดยนำเงินไปซื้อเสียงด้วย พื้นที่เล็กเงินค่าหัวยิ่งสูง อย่างไรก็ตามเงินซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. นั้นต้องขอย้ำว่า…เป็นเฉพาะผู้สมัครบางรายเท่านั้น โดยจำนวนเงินที่มีการจ่ายเฉลี่ยกันเพียง  300-500 บาท แต่หากพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันดุเดือด จะจ่ายเงินกันสูงกว่านี้แล้วแต่กำลังทรัพย์ของผู้สมัคร โดยเฉพาะ “คืนหมาหอน” หรือคืนก่อนวันเลือกตั้ง แต่ยอมรับว่าการเลือกตั้งระดับชาติมีการจ่ายเงินน้อยกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น  เพราะท้องถิ่นถูกสาธารณชนจับตาน้อยกว่ายิ่งพื้นที่เล็กเท่าใดจำนวนเงินยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น! โดยทั่วไปบางพื้นที่มักจ่ายสูงกว่า 1,000 บาท หรือในหลายพื้นที่ หลายแห่งจ่ายเงินกันสูงกว่าระดับหัวละ  2,000 บาททีเดียว หวังช่วยกระตุ้นจีดีพี อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว แม้มีเรื่องที่ผิดกฎหมายมาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่บรรดากูรูเศรษฐกิจทั้งหลาย ต่างมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินที่หมุนเวียนในการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่กำหนดในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับ 0.3-0.4% ทีเดียว  แต่มีข้อแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์…ต้องลงเลือกตั้งด้วย เพราะจะมีการแข่งขันที่ดุเดือด สาเหตุที่เงินสะพัดจากการเลือกตั้งสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็ว เป็นเพราะเป็นการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการจัดทำกิจกรรมของพรรคการเมืองรวมกันประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินเหล่านี้จะลงสู่ระบบและเมื่อเงินมีการหมุนเวียนถูกใช้กันหลาย ๆ รอบ ประชาชนที่ได้รับ จะมีการจ่ายทันทีส่วนใหญ่ไม่ค่อยเก็บไว้ โดยเฉพาะเงินที่ได้จากใต้ดินหรือพูดง่าย ๆ คือเงินซื้อเสียงนั่นเอง  หากรีบจ่ายเงินเร็วก็ยิ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยิ่งเร็วเช่นกัน! สารพัดธุรกิจรับอานิสงส์ ส่วนเงินบนระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย  จะมีการใช้จ่ายกันรวดเร็วเช่นกัน! เพราะจะมีการจ้างงานกันเป็นเครือขาย โดยธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ จากการเลือกตั้ง เช่น ธุรกิจการพิมพ์ การเช่ารถ ซื้อรถ หรือการรณรงค์ปราศรัย หรือการซื้อคะแนนเสียง การจัดทำโปสเตอร์, การโฆษณา สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์, เสื้อผ้าสำหรับทีมงานในการหาเสียง, เครื่องดื่ม, การจ้างงานบริษัทรักษาความปลอดภัย และการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ เป็นต้น  ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่นนี้ ถือว่าเป็นการหมุนเงินได้เร็วมาก เพราะเป็นการจ้างงานระยะสั้น… มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีที่หลายคนวาดฝันกันไว้ กลับต้องสลายพังพาบ! เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะต้องการให้ประเทศเกิดการปฏิรูปในทิศทางที่ดีก่อน ตรงนี้ได้ส่งผลให้จำนวนเงินในการเลือกตั้งลดลงเหลือจาก 50,000 ล้านบาท เหลือเพียง 20,000-30,000 ล้านบาท เนื่องจากว่าการแข่งขันเข้มข้นน้อยลง และคึกคักน้อยลงเช่นกัน แต่ที่หนักกว่า คือ พรรคการเมืองจำนวนมากประเมินว่าในวันที่ 2 ก.พ. 57 จะสามารถเลือกตั้งได้หรือไม่? หรือจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่  หรือเลือกตั้งได้แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะอีก 28 เขต กกต. ไม่สามารถรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้ เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องมี ส .ส. จำนวน 95% หรือมี ส.ส.อย่างน้อย 475 คนจากทั้งหมด 500 คน จึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ หากมี ส.ส.ไม่ครบก็ตั้งไม่ได้ ที่สำคัญกระแสการเลือกตั้งในเวลานี้ ยังไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเท่ากับการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่มีมวลมหาประชาชนมารวมตัวกันนับล้านคนในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง จึงทำให้กระแสการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้อ่อนลงมากและไม่ได้รับความสนใจจากมวลมหาประชาชน นักการเมืองไม่กล้าทุ่มเงิน ปัญหานี้ได้ทำให้บรรดานักการเมือง ยังกลัว ๆ กล้า ๆ ในการทุ่มเงิน ทุ่มเทแรงกาย เพราะหลายคนมองว่าหากเกิดปัญหาใด ๆ เงินที่ลงทุนในระดับหลักล้านบาทจะหายวับไปทันที ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยแล้วยิ่งหาเงินได้ยากมาก เห็นได้จากบรรดาป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. มีไม่มากนักต่างจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอย่างสิ้นเชิง ถนนบางพื้นที่ยังโล่ง หรือแทบไม่มีป้ายหาเสียงของผู้สมัครด้วยซ้ำไป หากพบเจอบ้าง จะเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย เบอร์ 15, พรรคชาติพัฒนา เบอร์ 1 หรือพรรคชาติไทยพัฒนา เบอร์ 14 เป็นต้น ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กแทบไม่มีป้ายโฆษณาให้เห็นด้วยซ้ำไป หอการค้าคาดเงินสะพัดน้อย ตรงนี้จะสอดคล้องกับความเห็นของ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มองว่า จำนวนเงินที่สะพัดในช่วงของเทศกาลเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะลดลงจากเดิมโดยคาดว่าจะมีเงินสะพัด จากที่เคยหวังไว้ที่ 40,000-50,000 ล้านบาท เหลือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เนื่องจากบรรยากาศในการหาเสียงของพรรคการเมืองซบเซามาก ส่งผลให้พรรคการเมืองมีการจ้างงานแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอัตราต่ำ เหตุผลสำคัญเพราะบรรดาผู้สมัคร ส.ส. จากปกติที่บางรายเคยใช้เงินทั้งบนดินและใต้ดินประมาณ 20-30 ล้านบาท แต่ในครั้งนี้เฉลี่ยแค่ 1-2 ล้านบาท ยกเว้นพื้นที่แข่งดุเดือดแต่คงมีไม่มาก ขณะที่บางรายอาจใช้เงินไม่ถึงล้านด้วยซ้ำ เนื่องจากกังวลถึงความชัดเจนว่าในวันที่ 2 ก.พ.นี้จะมีการเลือกตั้งได้หรือไม่ ชี้ยิ่งยืดเยื้อยิ่งสาหัส ขณะที่ “ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า หากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ชัดเจนขึ้น เชื่อว่าการเลือกตั้งในหลาย ๆ พื้นที่ยังมีการแข่งขันกันอย่างคึกคักและมีเงินสะพัดในระดับหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ในระดับหนึ่ง แต่หากปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นจนในครึ่งปีแรกยังไม่มีรัฐบาล…จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยอยู่ในอาการสาหัสและเข้าสู่จุดอันตรายมากขึ้น ทั้งนี้ทุกฝ่ายส่วนต้องการให้มีการจัดรัฐบาลขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้สามารถออกมาตรการต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้มีเงินสะพัดลงในระบบเศรษฐกิจ ห่วงการเมืองฉุดเศรษฐกิจ หันมามองในฟากหน่วยงานวิชาการอย่างทางแบงก์ชาติ แม้จะไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรงนัก แต่ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องของการเมืองในเวลานี้ไว้อย่างชัดเจน และประเมินว่า หากการเมืองยิ่งยืดเยื้อมากขึ้นเท่าใดยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้น้อยกว่า 3% เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ที่ถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะหมุนเศรษฐกิจในปีม้านี้ ณ เวลานี้ คงไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อถึงวันที่ 2 ก.พ.นี้แล้ว การเลือกตั้งที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แม้ว่าเวลานี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลสามารถเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไปก่อนได้ โดยให้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งไปตกลงวันที่ชัดเจนกันเอาเองก็ตาม สุดท้าย…คงยังไม่มีใครบอกได้ว่าจนกว่าจะถึงวันไหนอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หรือจะเลือกตั้งได้จริงหรือไม่ แต่เรื่องที่จริงแท้แน่นอนแบบไม่มีใครปฏิเสธได้คือ คนไทยทั้งประเทศต้องรับกรรมจากการเมืองในครั้งนี้!. มนัส แวววันจิตร ………………………………………. รูปแบบการทุจริตเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น 1. แจกเงินซื้อเสียงรายหัว-กลุ่ม เป็นปฏิบัติการขั้นสุดยอดโดยหัวคะแนนนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนก่อนวันเลือกตั้ง ราคาค่าหัวขึ้นอยู่กับพื้นที่และองค์กร เช่น อาจแจกจ่ายหัวละ 100-2,000 บาท เทศบาล  ส่วนรายกลุ่มนั้นประมาณกลุ่มละ 20,000-30,000 บาท  โดยปัจจุบันหัวคะแนน 1 คน จะรับผิดชอบจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รู้จักคุ้นเคยและไว้ใจได้ประมาณ 20-50 คน เป็นการจ่ายเงินเฉพาะกลุ่มแบบหวังผล ส่วนการจ่ายเงินแบบปูพรมให้แก่ทุกคนปัจจุบันเหลือน้อยเนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกร้องคัดค้าน 2. แจกเหล้า/เบียร์/น้ำแข็ง/เครื่องดื่ม วิธีนี้มักให้คนอื่นนำไปให้เจ้าภาพในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ และมีการแจกในงานเทศกาล เช่น สงกรานต์ บุญบั้งไฟ บุญกฐิน บุญผ้าป่า รวมถึง งานแข่งขันกีฬา และวงเหล้าในชุมชน ซึ่งจะเป็นที่รู้กันเองในชุมชนว่าใครเป็นคนเอาเหล้า/เบียร์/น้ำแข็ง/เครื่องดื่มมาช่วยในงาน 3. แจกเนื้อวัว-หมู/จัดเลี้ยงหมูกระทะ วิธีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหัวคะแนนหรือบุคคลใกล้ชิดผู้สมัครที่เป็นผู้ดำเนินการให้โดยซื้อวัว หรือหมูมาแล้วทำการฆ่ามาแบ่งออกเป็นส่วน  เป็นกอง ๆ แจกจ่ายให้ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนฟรี หรือขายในราคาถูก วิธีนี้น่าจะเลียนแบบมาจากการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันในสมัยก่อน ปัจจุบันพบเห็นกันมากขึ้นคือ ผู้สมัครจะจ้างร้านหมูกระทะ (ร้านเนื้อย่าง ร้านจิ้มจุ่ม ร้านสุกี้) ให้นำชุดเนื้อย่าง หมูกระทะ สุกี้ ไปลงให้ประชาชนในชุมชนได้กินกัน  โดยรู้กันเองในกลุ่มว่าได้รับการสนับสนุนจากผู้สมัครคนใด 4. จ้างเป็นผู้ช่วยหาเสียง/ติดป้าย/แจกเอกสาร เป็นวิธีการดูเหมือนจะไม่น่าจะมีผลต่อการเลือกตั้ง แต่จริง ๆ เป็นไม้เด็ดอีกอย่างหนึ่งที่นำมาใช้ เพราะการจ้างแรงงานดังกล่าว มีการกระจายการจ้างงานจ้างคน เช่น จ้างติดป้ายหรือแจกใบปลิวหาเสียงหมู่บ้านละ 20 คน คนละ 150 บาทต่อวัน ซึ่งกลุ่มคนที่ถูกจ้างพร้อมด้วยบุตร ภรรยาและญาติพี่น้องก็จะเทคะแนนให้ผู้จ้าง เป็นการซื้อเสียงทางอ้อม เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย 5. ซื้อผู้นำ/แกนนำในท้องถิ่น มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน ผู้มีบทบาททางความคิด อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าคุ้ม อสม. ตำรวจบ้าน อปพร. ให้ค่าใช้จ่ายเป็นก้อนเพื่อเป็นฐานเสียงของตน โดยให้ช่วยแนะนำบอกต่อหรือเป็นตัวแทนผู้สมัครเสียเลย ซึ่งมีผลอย่างสูง เนื่องจากคนเหล่านี้มีบารมีและฐานเสียงส่วนตัวอยู่พอสมควร 6. ซื้อผู้แข่งขันไม่ให้ลงแข่ง/ไม่ให้ร้องคัดค้าน ก่อนสมัครรับเลือกตั้งจะมีการตรวจสอบว่าใครจะสมัครบ้าง ถ้ามีผู้เสนอตัวสมัครที่อาจทำให้ตนแพ้การเลือกตั้งได้ ก็จะมีการไปเจรจาจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อตัดคู่แข่ง ซึ่งลงทุนทีเดียวไม่ต้องลำบาก ราคาจ่ายก็แล้วแต่ตำแหน่งหรือพื้นที่ จากหลักหมื่นถึงหลักล้านก็มี อีกอย่างหนึ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้คือ ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งจะไปเจรจากับผู้ที่แพ้การเลือกตั้งโดยยอมจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้สมัครที่แพ้การเลือกตั้งร้องคัดค้านผลการเลือกตั้ง 7. พาเที่ยว/ดูงาน วิธีการนี้ส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองที่เป็นผู้บริหารเก่า ใช้งบประมาณหลวงจัดโครงการศึกษาดูงานนอกพื้นที่ให้แก่กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน แต่จริง ๆ แล้วไปเที่ยวทะเล ภูเขา รีสอร์ทหรือล่องแก่ง กินเหล้าเมาสำราญ กินฟรีเที่ยวฟรี นอกจากนี้ยังแถมเงินสด ๆ ติดไม้ติดมือให้ด้วย ส่วนใหญ่จะจัดในช่วงที่ใกล้ครบวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น 8. แจกเสื้อผ้าในการเลือกตั้ง การแจกเสื้อผ้าที่ปรากฏจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ แจกเสื้อผ้าให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อหวังคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้ง กับการแจกเสื้อกลุ่ม (เสื้อทีม) ให้กับผู้สมัครกลุ่มเดียวกันและกลุ่มผู้ช่วยหาเสียงซึ่งถือเป็นสิ่งของ หรือทรัพย์สินที่ผู้สมัครสามารถแจกจ่ายได้ (เฉพาะผู้ช่วยหาเสียง) โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง แต่ต้องให้ กกต. ประจำจังหวัดกำหนดว่าจะมีผู้ช่วยหาเสียงได้จำนวนเท่าใด แต่ก็มีผู้สมัครหลายคนหาวิธีเลี่ยง เช่น แจกเกินจำนวนที่ กกต.กำหนด แจกก่อน 60 วัน ก่อนครบวาระ แจกโดยไม่ระบุชื่อหรือหมายเลขของผู้สมัครแต่เป็นที่รู้จักกันว่าเสื้อของใคร 9. ใบปลิว/ปล่อยข่าวสกปรก วิธีการแบบนี้น้ำเน่าที่สุดแต่ก็ได้ผลไม่น้อย เป็นการปล่อยข่าวลือ ลวง ใส่ร้าย หรือแฉเบื้องหน้าเบื้องหลังคู่แข่งขัน บางทีก็โจมตีการทำงาน หรือการใส่ร้ายแบบไม่มีมูล (แบบหน้าด้าน ๆ) การโจมตีเรื่องส่วนตัว เช่น มีภรรยาหลายคน ชอบเที่ยว ชอบเล่นการพนัน ส่วนใหญ่จะพิมพ์แล้วถ่ายเอกสารโปรยตามถนน หรือวางในที่สาธารณะในช่วงกลางคืน หรือบางครั้งก็กระซิบผ่านตัวผู้นำพูดต่อไปเรื่อย ๆ  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การเมือง หวั่นเลือกตั้งแท้งฝันสลาย!เงินสะพัดอุ้มศก.

Posts related