มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบให้บริษัทปตท.แยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติของปตท. ออกมาตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่งแยกออกมาจากปตท. โดยในระยะแรกให้ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ไปก่อน ต่อจากนั้นให้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 25% ซึ่งจะทำให้รัฐมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่นี้มากขึ้น มตินี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปพลังงานในบ้านเรา เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการลดการผูกขาดในธุรกิจก๊าซธรรมชาติให้น้อยลง จากเดิมที่การจัดหา การจัดส่ง และการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติในบ้านเราจะอยู่ภายใต้การดำเนินการของปตท.เกือบทั้งหมด แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติอัดเหลว (LNG) จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องลดการผูกขาดของปตท.ลงเพื่อให้เกิดการแข่งขัน อันจะนำสู่การเพิ่มประสิทธิ ภาพในการดำเนินกิจการและราคาที่ถูกลง ถามว่ามตินี้เป็นผลดีต่อปตท.ไหม และปตท.ได้ประโยชน์ใดจากมติของกพช.นี้หรือไม่ คำตอบก็คือมตินี้ไม่มีผลดีต่อปตท.เลย ถ้าเลือกได้ ปตท.คงเลือกที่จะคงสถานะเหมือนเดิมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่า ดังนั้นถ้าเราเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่ามติกพช.ครั้งนี้ทำให้ปตท.เสียผลประโยชน์ และจะทำให้ธุรกิจท่อส่งก๊าซมีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ก๊าซและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยนี้ไม่ได้คัดค้านการแยกท่อก๊าซ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแยกออกมาเป็นบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% แต่ต้องการให้ปตท.คืนท่อก๊าซทั้งระบบให้กับกระทรวงการคลัง และให้กระทรวงการคลังถือหุ้นในบริษัทท่อก๊าซนี้ 100% นั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องเดิมที่มีการโต้เถียงกันมาอย่างยาวนาน โดยฝ่ายประชาชนก็กล่าวหาปตท.ว่ายังคืนท่อก๊าซไม่หมด เพราะคืนเฉพาะท่อบนบกแต่ท่อในทะเลยังไม่ได้คืน  ทาง ด้านปตท.ก็ชี้แจงว่าคืนไปหมดแล้วตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้คืนเฉพาะทรัพย์สินที่มีการรอนสิทธิของเอกชนจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ และการใช้เงินลงทุนของรัฐ ดังนั้นท่อในทะเลจึงไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องส่งคืน เพราะไม่มีการรอนสิทธิของเอกชน และปตท.ไม่ได้ใช้เงินลงทุนของรัฐ อีกทั้งกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และศาลปกครองสูงสุด ก็ได้มีหนังสือและบันทึกมายังปตท.ว่าปตท.ได้ดำเนินการโอนทรัพย์สินทั้งหมดตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ต่อมาทางภาคประชาชนยังได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางอีกว่า ปตท.ยังคืนท่อไม่ครบตามคำพิพากษา แต่ทั้งศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางก็ได้ยกคำร้องและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โดยศาลได้พิจารณาว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ดังนั้นผมจึงเห็นว่าเรื่องคืนท่อครบหรือไม่ครบจึงไม่ควรนำมาเป็นประเด็นอีกต่อไป แต่ที่ควรนำมาพิจารณาคือ อนาคตของบริษัทท่อส่งก๊าซแห่งนี้ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะเป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้น 100% หรือไม่ หรือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นแบบเดียวกับบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่ถึงสองบริษัท คือ THAPLINE กับ FPT ซึ่งรัฐก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเพียงแต่ถือหุ้นผ่านปตท.เท่านั้น ผมก็ไม่เห็นมีใครออกมาโวยวายจะทวงท่อน้ำมันคืนจากสองบริษัทนี้เหมือนท่อก๊าซเลย !!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การแยกท่อก๊าซ:จุดเริ่มต้น ของการปฏิรูปพลังงาน – พลังงานรอบทิศ

Posts related